ฟุโระ 風呂

ฟุโระ หมายถึง ที่อาบน้ำร้อน อ่างอาบน้ำร้อน การอาบและแช่น้ำร้อน ความชอบฟุโระหรือการอาบและแช่น้ำร้อนของคนญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักดีทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคงมีเพียงคนญี่ปุ่นเท่านั้นที่แช่น้ำร้อนในอ่างอาบน้ำอุณหภูมิ 42 องศาเซลเซียสแทบทุกวัน แต่คนญี่ปุ่นไม่ได้มีวิถีชีวิตแบบนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ การที่แต่ละครอบครัวในญี่ปุ่นติดตั้งอ่างน้ำร้อนและอาบน้ำในอ่างน้ำร้อนทุกวัน เพิ่งจะมีมาประมาณ 50 ปีมานี้เอง ในวรรณคดีญี่ปุ่นสมัยโบราณ ไม่มีฟุโระปรากฏให้เห็นเลย

 

ฟุโระ ในความหมายของอ่างอาบน้ำร้อนได้กลายเป็นที่นิยมเช่นในปัจจุบันมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของสมัยเอะโดะ ถ้าพูดถึงฟุโระหรือการอาบและแช่น้ำร้อนในสมัยก่อนหน้านั้น ฟุโระที่นิยมคือ ฟุโระชนิดไอน้ำเหมือนซาวน่า(มุชิฟุโระ(蒸し風呂)) มีชื่อเรียกแยกกันระหว่างสถานที่อาบน้ำร้อนที่เรียกว่า “ยุยะ”(湯屋)กับสถานที่อาบฟุโระไอน้ำที่เรียกว่า “ฟุโระยะ”(風呂屋)ในภาพยนตร์การ์ตูนของมิยะซะกิ ฮะยะโอะ(宮崎駿)เรื่อง “เซ็นโตะชิฮิโระโนะกะมิกะงุชิ”(千と千尋の神隠し)สถานที่ซึ่งตัวละครเอกชื่อ “ชิฮิโระ”(千尋)ทำงานคือ ยุยะ ไม่ใช่ฟุโระยะ นี่เป็นวิธีใช้ที่ถูกต้อง สถานที่ซึ่งชิฮิโระทำงาน เป็นสถานที่ซึ่งมีน้ำร้อนแล้วเข้าไปแช่น้ำร้อน จึงเป็นฟุโระยะไม่ได้

 

คงจะไม่ต้องถึงกับอธิบายต้นกำเนิดของคำว่า “ยุยะ” แต่มีความจำเป็นต้องอธิบายต้นกำเนิดของคำว่า “ฟุโระ” กล่าวกันว่า คำว่า “ฟุโระ” มาจากคำว่า “มุโระ”(室)(มีความหมายว่า ห้อง)คำว่า “มุโระ” หมายถึงพื้นที่ว่าง(ช่องว่าง)ที่มีกำแพง 4 ด้านล้อม หรือว่าห้องนั่นเอง ห้องที่เก็บกักไอน้ำ จึงเป็นฟุโระ

 

ตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว ญี่ปุ่นมีความคิดเรื่องการชำระล้างร่างกายให้สะอาด ดังนั้นจึงคิดได้ว่าเดิมฟุโระหรือการอาบและแช่น้ำร้อนน่าจะเกิดขึ้นในฐานะพิธีกรรมในการชำระล้างร่างกายให้สะอาด ตามความหมายของการชำระล้างสิ่งสกปรก ตั้งแต่พุทธศาสนาเข้ามาในญี่ปุ่นก็มีความคิดว่า การเข้าฟุโระเป็นวิธีการทำบุญและวิธีกำจัดทุกข์อย่างหนึ่ง พอเข้าสู่สมัยเอะโดะ ก็มีการสร้างที่อาบน้ำรวมที่เรียกว่า “เซ็นโตะ”(銭湯)โดยมีเมืองใหญ่เป็นศูนย์กลาง ภาพวาด “อุกิโยะฟุโระ”(浮世風呂)ของชิกิเตะอิ ซัมบะ(式亭三馬)ซึ่งเป็นภาพวาดผู้คนในฟุโระยะหรือที่อาบน้ำร้อน เป็นภาพวาดที่ขายดีมากในสมัยเอะโดะ นอกไปจากนั้น ผ้าที่เรียกว่า “ฟุโระฌิกิ”(風呂敷)และชุดยุกะตะ(浴衣)ยังเกี่ยวเนื่องกับการที่คนทั่วไปอาบน้ำในที่อาบน้ำรวมจนเป็นปกติ ฟุโระฌิกิเคยเป็นผ้าห่อของที่ถือไปเวลาไปฟุโระ ส่วนยุกะตะก็เป็นชุดชั้นในที่ใส่เวลาขึ้นจากน้ำร้อน ต่อมาความเกี่ยวข้องระหว่างยุกะตะกับฟุโระได้หายไปตามลำดับ จนกลายเป็นวิธีใช้ในปัจจุบัน

 

อิวะอิ ฌิเงะกิ

Read more