ไฮกุ 俳句

ไฮกุ เป็นบทกวีญี่ปุ่น 1 บทจะมี 3 วรรค จำนวนพยางค์ในแต่ละวรรค คือ 5 7 5 รวมเป็น 17 พยางค์ นับเป็นบทกวีที่สั้นที่สุดของโลก กวีที่แต่งไฮกุ เรียกว่า ไฮจิน(俳人)ไฮกุถือกำเนิดจากไฮไก โนะ เร็งงะ(俳諧の連歌)หรือเรียกสั้น ๆ ว่าไฮไก(俳諧)ที่เน้นความสนุกสนานตามแบบชาวบ้านและเป็นที่นิยมแพร่หลายในสมัยมุโระมะชิ(室町)กลอนไฮไกโนะเร็งงะ 1 บทจะมี 5 วรรค จำนวนพยางค์ในแต่ละวรรคคือ 5 7 5 7 7 โดยจะให้ผู้แต่งกลอนคนแรกแต่ง 3 วรรคแรก คือ 5 7 5 และผู้แต่งกลอนคนที่ 2 แต่ง 2 วรรคหลัง คือ 7 7 ต่อเนื่องกัน ต่อมาในศตวรรษที่ 17 มะท์ซุโอะ บะโฌ(松尾芭蕉)ได้วางรูปแบบและกฎเกณฑ์ให้มีคุณค่าทางวรรณกรรม  โดยตัดเหลือแค่ 3 วรรคแรก คือ 5 7 5 หรือ ที่เรียกว่า ฮกกุ(発句) ซึ่งบะโฌแต่งฮกกุนี้ไว้มากมายจนกระทั่งได้กลายเป็นต้นกำเนิดของไฮกุที่เป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วโลกในปัจจุบัน

 

กวีสมัยเมจิ(明治)ชื่อ มะสะโอะกะ ฌิกิ(正岡子規)เป็นผู้วางรูปแบบไฮกุที่เน้นการให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ของกวี ฌิกิเรียกไฮไกในยุคปลายสมัยเอะโดะว่า ท์ซุกินะมิไฮไก(月並俳諧)เขาได้พยายามผลักดันให้ฮกกุแยกออกเป็นเอกเทศจากไฮไกในฐานะบทกวีสมัยใหม่ที่เรียกว่า ไฮกุ ซึ่งกวีสามารถแต่งและชื่นชมไฮกุเพียงบทเดียวเพียงลำพังได้ จากมุมมองที่ไฮกุแยกออกเป็นเอกเทศจากไฮไก ฮกกุที่มะท์ซุโอะ บะโฌแต่งไว้จำนวนมากจึงถูกมองว่าเป็นไฮกุด้วยเช่นกัน

 

นอกจากนี้ บทกวีภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ที่แต่งโดยใช้หรืออาจไม่ใช้รูปแบบจำนวนพยางค์ 5-7-5 ตามแบบไฮกุ อาจไม่มีคำแสดงฤดูกาลที่เรียกว่า คิโงะ(季語)แต่แต่งเป็น 3 บรรทัดก็เรียกว่า ไฮกุ เช่นกัน ปัจจุบันชาวต่างประเทศเริ่มนิยมแต่งไฮกุเป็นภาษาญี่ปุ่น กวีไฮกุชาวต่างชาติ ได้แก่ Mabuson Seigan(マブソン青眼 เป็นกวีไฮกุชาวฝรั่งเศส ชื่อจริงคือ Mabesoone Laurent)ไฮกุซึ่งสืบสานประเพณีการแต่งบทกวีของญี่ปุ่นด้วยท่วงทำนอง 5 พยางค์ 7 พยางค์ และ 5 พยางค์ โดยมีคำแสดงฤดูกาลที่เรียกว่า คิโงะ และคำพักวรรคที่เรียกว่า คิเระจิ(切字)แม้จะเป็นบทกวีสั้น ๆ แต่ก็มีลักษณะเฉพาะพิเศษคือ สามารถสื่อได้ถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ลึกซึ้งและจินตภาพที่กว้างไกลของกวีไฮกุมีลักษณะเฉพาะ ดังนี้

 

• เป็นบทกวีที่มีรูปแบบที่กำหนดไว้แน่นอน แต่งขึ้นโดยมีจำนวนพยางค์ 5 พยางค์ 7 พยางค์ และ 5 พยางค์
• ตามกฎเกณฑ์แล้วต้องมีคำแสดงฤดูกาลคือ คิโงะ เป็นสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้เกิดจินตภาพของฤดูกาล ช่วยให้ผู้อ่านไฮกุเกิดจินตนาการที่กว้างไกล
• ต้องมีคำพักวรรค คิเระจิ อย่างน้อย 1 ครั้ง
• ต้องสื่ออารมณ์ความรู้สึกที่หลงเหลืออยู่นอกเหนือจากตัวอักษรที่ปรากฏ หรือเป็นอารมณ์ที่คั่งค้างอยู่หลังจากการอ่านบทกวีจบลง

 

ในการแต่งไฮกุ วรรคแรกที่เรียกว่าฮกกุ มี 5 พยางค์จะต้องเป็นวรรคที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการแต่ง วรรคที่ 2 ที่เรียกว่า วะกิกุ(脇句)7 พยางค์ และวรรคที่ 3 ที่เรียกว่า ฮิระกุ(平句)5 พยางค์ ดังนั้น ฮกกุจึงต้องมีความสมบูรณ์ในตัวเอง คิเระ เป็นคำช่วยที่ทำหน้าที่เติมเต็มให้ฮกกุมีความสมบูรณ์ เป็นการหยุดพักเพื่อเป็นบทเกริ่นนำให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านจินตนาการไปตามสิ่งที่กวีกำลังกล่าวถึง อีกทั้งเป็นแรงจูงใจชักนำให้ผู้ฟังเข้าสู่โลกแห่งจินตภาพ ภาพทิวทัศน์ และเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของกวีได้อย่างลึกซึ้ง การหยุดพักวรรคนี้ กวีจะใช้คำที่เรียกว่า คำพักวรรค ที่เรียกว่า คิเระจิ ที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย ได้แก่ คะนะ(かな)ยะ(や)เคะริ(けり)กวีไฮกุที่มีชื่อเสียงในยุคสมัยเอะโดะ ได้แก่ มะท์ซุโอะ บะโฌ(松尾芭蕉, ค.ศ. 1644 – 1694)โยะซะ บุซง(与謝蕪村, ค.ศ. 1716 – 1783)โคะบะยะฌิ อิซซะ(小林一茶, ค.ศ. 1763 – 1827)กวีไฮกุยุคก่อนสมัยใหม่ และยุคปัจจุบัน ได้แก่ มะซะโอะกะ ฌิกิ(正岡子規, ค.ศ. 1867 – 1902)คะวะฮิงะฌิ เฮะกิโกะโด(河東碧梧桐, ค.ศ. 1873 – 1937) 

 

ปัจจุบันในต่างประเทศ ไฮกุถูกแต่งเป็นบทกวีในภาษาต่าง ๆ ทั่วโลก ได้แก่ ภาษาอังกฤษ สวีเดน เยอรมัน ฝรั่งเศส เบลเยียม ฮอลแลนด์ โครเอเชีย สโลเวเนีย เซอร์เบีย บัลแกเรีย รูมาเนีย อัลบาเนีย รัสเซีย จีน เปรู เม็กซิโก อาร์เจนตินา อุรุกวัย โคลัมเบีย บราซิล อินเดีย บังกลาเทศ และไทย เป็นต้น

                                                                                     
กัญญนันทน์ เตียวพาณิชย์

 

เอกสารอ้างอิง
乾裕幸(1990)「連歌から俳諧へ」『日本文学新史 近世』至文堂 

 

Read more