โซะเนะสะกิ ฌินจู 曾根崎心中

โซะเนะสะกิ ฌินจู เป็นชื่อบทละครหุ่นกระบอกโจรุริ(人形浄瑠璃)(ในปัจจุบันเรียกว่า บุนระกุ(文楽))และบทละครคาบูกิ(歌舞伎)ที่มีชื่อเสียงในสมัยเอะโดะ เขียนโดยชิกะมะท์ซุ มนสะเอะมน(近松門左衛門)เค้าโครงเรื่องมาจากเหตุการณ์การฆ่าตัวตายคู่ที่ป่าโซะเนะสะกิของชายหนุ่มที่ชื่อ โทะกุเบะอิ(徳兵衛) ลูกจ้างร้านโฌยุ ฮิระโนะยะ(平野屋)แห่งโอซากา อุชิฮงมะชิ(内本町)กับนางคณิกาชื่อ ฮะท์ซุ(お初)แห่งสำนักคณิกาเท็นมะยะ(天満屋)แห่งโอซากา โดจิมะฌินชิ(堂島新地)กล่าวกันว่า ชิกะมะท์ซุ เดินทางมาโอซากาและได้ฟังเรื่องราวของละครคาบูกิที่แสดงเกี่ยวกับเหตุการณ์น่าสะเทือนใจนี้ จึงนำมาแต่งใหม่เป็นบทละครหุ่นกระบอก จัดแสดงครั้งแรกที่โรงละครหุ่นทะเกะโมะโตะสะ(竹本座)เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1703 โดยใช้ชื่อเรื่องว่า โซะเนะสะกิ ฌินจู นับเป็นผลงานเรื่องแรกที่ชิกะมะท์ซุนำเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสมัยนั้นมาแต่งเป็นบทละครหุ่น ก่อนหน้านั้นบทละครหุ่นล้วนเป็นเนื้อเรื่องแนวละครหุ่นโบราณที่เรียกว่า โคะโจรุริ(古浄瑠璃)ซึ่งได้เค้าโครงเรื่องมาจากวรรณคดีญี่ปุ่นโบราณ ตำนาน หรือเรื่องเล่าที่เล่าสืบต่อกันมา เช่น  ตำนานวีรบุรุษนักรบชื่อมินะโมะโตะ โยริโตะโมะ(源頼朝)เป็นต้น

 

ด้วยเหตุนี้ เมื่อโซะเนะสะกิ ฌินจูเปิดแสดงเป็นบทละครหุ่น จึงมีเสียงตอบรับอย่างล้นหลามจากผู้ชมชาวเมือง กล่าวกันว่า การจัดแสดงบทละครเรื่องนี้ ทำให้โรงละครทะเกะโมะโตะที่มีสถานะทางการเงินย่ำแย่ในขณะนั้น สามารถกลับฟื้นตัวมั่นคงขึ้นมาได้อีก เนื้อเรื่อง กล่าวถึง โทะกุเบะอิ หนุ่มลูกจ้างร้านโฌยุ ฮิระโนะยะ ซึ่งรักชอบอยู่กับ โอะฮะท์ซุ นางคณิกาแห่งสำนักเท็นมะยะ จึงปฏิเสธการแต่งงานกับหลานสาวของลุงซึ่งเป็นเจ้าของร้านโฌยุที่เขาทำงานอยู่ ลุงจึงโกรธมากประกาศว่า หากไม่นำเงินสินสอดที่แม่บุญธรรมรับไว้มาคืนภายใน 7 วัน จะไล่ออกและขับออกจากเมืองโอซากา แม้เขาจะนำเงินสินสอดกลับมาได้แต่ก็ถูกเพื่อนชื่อ คุเฮะอิจิ(九平次)ขอยืมเงินจำนวนนี้ไป โดยหลอกว่าจะคืนให้ภายใน 3 วัน แต่เมื่อถึงกำหนดคุเฮะอิจิกลับไม่ยอมรับว่าได้ยืมเงินไปและกล่าวหาว่า โทะกุเบะอิทำตั๋วกู้ยืมเงินปลอม ซ้ำยังให้เพื่อนรุมทุบตีทำร้ายโทะกุเบะอิต่อหน้าฝูงชน ทำให้เขาได้รับความอับอาย โทะกุเบะอิต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเขาให้ชาวเมืองโอซากาได้เห็นจึงไปฆ่าตัวตายคู่กับโอะฮะท์ซุที่ป่าโซะเนะสะกิ(曾根崎の森)บทละครเรื่องนี้สะท้อนความคิดของคู่รักในยุคสมัยเอะโดะที่เชื่อว่า การฆ่าตัวตายคู่เป็นการพิสูจน์ความรักแท้ และแสดงให้เห็นความศรัทธาในพระโพธิสัตว์กวนอิมของชาวญี่ปุ่นในสมัยนั้นด้วย 

 

บทละครเรื่องนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตสามัญชนชาวเมืองที่ชิกะมะท์ซุแต่งขึ้นเป็นเรื่องแรก บทบรรยายและบทพูดจึงใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย มีความไพเราะและงดงามด้วยวรรณศิลป์ โดยเฉพาะบทขับร้องที่เรียกว่า อุตะอิ(謡)ในฉากแรกของบทละครมีความไพเราะ เป็นที่ชื่นชอบของคนญี่ปุ่น และบทมิชิยุกิ(道行)ซึ่งเป็นบทบรรยายการเดินทางไปสู่ป่าโซะเนะสะกิของคู่รักเป็นบทกลอน ที่มีความไพเราะเพราะพริ้ง แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนสภาพจิตใจของคู่รักที่กำลังจะไปฆ่าตัวตายจึงให้อารมณ์โศกเศร้าสะเทือนใจ ซึมซาบถึงจิตใจมนุษย์ ฉากโอะฮะท์ซุลักลอบพาโทะกุเบะอิมาหลบอยู่ใต้เรือนชาน โทะกุเบะอิใช้ข้อเท้าของโอะฮะท์ซุปาดที่ลำคอของตนเป็นการสัญญาที่จะไปตายด้วยกัน และฉากโอะฮะท์ซุแอบย่องลงจากชั้นสองของสำนักคณิกา เสียงตีหินจุดตะเกียงไฟของคนในร้านกับเสียงเปิดประตูของโอะฮะท์ซุที่เป็นจังหวะเดียวกัน เป็นฉากระทึกที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกตื่นเต้นไปด้วยกับตัวละคร นับเป็นฉากที่น่าประทับใจของละครเรื่องนี้  

 

แก่นเรื่องเรื่องความรักแท้ที่ไม่สมหวัง ชะตากรรมที่น่าเวทนาของคู่รักทั้งสองเป็นที่ประทับใจของผู้ชมชาวญี่ปุ่นและชาวต่างประเทศที่มีโอกาสได้ชมละครเรื่องนี้ เรื่อง โซะเนะสะกิฌินจู จึงถูกนำไปดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์และละครเพลงสมัยใหม่ในปัจจุบันหลายครั้งหลายหน แม้ว่าต้นเรื่องจะเกิดขึ้นในสมัยเอะโดะ แต่เนื้อหาของเรื่องความรักไม่สมหวังเป็นสิ่งที่ให้อารมณ์สะเทือนใจที่มนุษย์สามารถรู้สึกคล้อยตามได้ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด ๆ
                                                                                                               

กัญญนันทน์ เตียวพาณิชย์

 

เอกสารอ้างอิง
鳥越文蔵, 山根為雄, 長友千代治, 大橋正よし, 阪口弘之「曽根崎心中」「近松門左衛門集2」『新編日本古典文学全集75』小学館
井口洋(1998)「世話浄瑠璃の成立と展開」『岩波講座 歌舞伎 文楽 第八巻』岩波書店

 

Read more