ภาษากลาง 共通語

ภาษากลาง (共通語) คือ ภาษาที่ใช้ร่วมกันในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งหรือกลุ่มคนใดกลุ่มหนึ่ง เป็นภาษาที่ทุกคนมีความเข้าใจร่วมกันเกินกว่าระดับของภาษาถิ่น เดิมคำว่าภาษากลางถูกใช้ในความหมายว่า เป็นภาษาที่ใช้เป็นสื่อกลางระหว่างภาษาถิ่นด้วยกัน เช่น คำว่า “ฟักทอง” แถบภูมิภาคคันโตเรียกว่า “โทนะซุ” (とうなす) แถบภูมิภาคคันไซเรียกว่า “นังกิน” (なんきん) แถบคิวฌูเรียกว่า “โบบุระ” (ぼうぶら) ในขณะที่ภาษากลางเรียกว่า “คะโบะชะ” (かぼちゃ) ต่อมาสถาบันวิจัยภาษาญี่ปุ่นแห่งชาติได้สำรวจการใช้ภาษาที่ใช้ในการดำเนินชีวิตของชาวเมืองฌิระกะวะ จังหวัดฟุกุฌิมะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปี ค.ศ. 1949 และพบว่า ในบริเวณดังกล่าวมีผู้พูดภาษาญี่ปุ่นแบบกึ่งภาษาถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาษามาตรฐาน (標準語) สถาบันจึงเรียกภาษาที่ทุกคนสามารถเข้าใจกันได้ทั่วประเทศญี่ปุ่นนี้ว่า ภาษากลางทั่วประเทศ (全国共通語) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ภาษากลาง (共通語) นั่นเอง

 

ฌิบะตะ ทะเกะฌิ (柴田武) ได้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง "ภาษากลาง" กับ "ภาษามาตรฐาน" ไว้ว่า ภาษากลางคือภาษาที่ใช้อยู่จริงและเกิดขึ้นเอง ในขณะที่ภาษามาตรฐานคือภาษาในอุดมคติ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ดังนั้นภาษากลางจึงมีขอบเขตการใช้ที่ยืดหยุ่นกว่า หรืออาจพูดได้ว่า ภาษากลางคือวิธีการสื่อสารที่เกิดขึ้นจริง ในขณะที่ภาษามาตรฐานเป็นสิ่งที่เพิ่มคุณค่าภาษานั้น ๆ ให้สูงขึ้น

 

เมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้เปลี่ยนมาใช้คำว่าภาษากลางแทนคำว่าภาษามาตรฐานใน “สาระสำคัญในการแนะแนวการศึกษา” (学習指導要領) ในสาขาเกี่ยวกับการศึกษาในโรงเรียน โดยเฉพาะด้านการศึกษาภาษาญี่ปุ่น (国語教育) เมื่อราวปี ค.ศ. 1955 ทำให้คำว่าภาษากลางเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้คำว่าภาษากลางในความหมายเชิงเปรียบเทียบกับภาษาถิ่นว่า ภาษากลางคือภาษาที่ใช้สื่อสารกันทั่วไป ขณะที่ภาษาถิ่นเป็นภาษาที่ผิดแผกไปจากมาตรฐานและจำกัดการใช้เฉพาะพื้นที่ ทำให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบต่อภาษาถิ่นด้วยเช่นกัน

 

 

ยุพวรรณ โสภิตวุฒิวงศ์

 

Read more