ฮิงุชิ อิชิโย เป็นนักเขียนสตรีคนแรกในวงการวรรณกรรมญี่ปุ่น มีชื่อจริงว่า ฮิงุชิ นะท์ซุ(樋口夏子)เธอถือกำเนิดในครอบครัวข้าราชการในโตเกียว เกิดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1872 เมื่ออายุ 14 ปี ฮิงุชิ อิชิโยได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสอนการประพันธ์ชื่อ ฮะกิโนยะ(萩の舎)แต่พออายุได้เพียง 15 ปี พี่ชายของเธอก็เสียชีวิตลง และธุรกิจของบิดาก็ล้มละลาย หลังจากนั้นไม่นานบิดาก็เสียชีวิตไปอีกคน ทำให้อิชิโยต้องกลายเป็นหัวหน้าครอบครัวทำงานหาเลี้ยงมารดาและน้องสาว ในตอนแรกเธอรับจ้างทำงานทั่วไป เช่น งานเย็บปักถักร้อยและงานทำความสะอาดตามบ้านต่าง ๆ นอกจากนี้ยังรับจ้างเขียนจดหมายให้กับหญิงคณิกาที่ต้องการติดต่อกับแขกหรือผู้อุปถัมภ์ของตนแต่ไม่สามารถเขียนจดหมายโต้ตอบเองได้ อย่างไรก็ตามรายได้นี้เป็นรายได้ที่ไม่แน่นอนและไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวให้อยู่อย่างสุขสบายได้ ประจวบกับในตอนนั้นเธอได้เห็นเพื่อนร่วมชั้นสมัยเรียนที่โรงเรียนสอนการประพันธ์เขียนนวนิยายออกขายจนประสบผลสำเร็จ อิชิโยจึงเริ่มหันมาเขียนนวนิยายและเรื่องสั้นเป็นอาชีพเมื่ออายุได้ 20 ปี และเริ่มใช้นามปากกาว่า ฮิงุชิ อิชิโย ในเวลานี้เอง
ด้วยสภาพครอบครัวที่เป็นอยู่อย่างยากลำบากทำให้เธอต้องย้ายบ้านบ่อยครั้ง ท้ายสุดอิชิโยได้ย้ายมาอยู่ในย่านโยฌิวะระ(吉原)ซึ่งเป็นย่านสถานบันเทิงหรือที่เรียกว่า “เขตโคมแดง” งานเขียนเรื่องแรกของฮิงุชิ อิฌิโยที่ได้รับความนิยม คือ โอท์ซุโกะโมะริ(大つごもり)ที่เธอรังสรรค์ขึ้นในปี ค.ศ. 1894 ต่อมาในปี ค.ศ. 1895 อิชิโยได้รังสรรค์นวนิยายขนาดสั้นที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเรื่องหนึ่งของเธอ คือ ทะเกะกุระเบะ(たけくらべ)และในปี ค.ศ. 1896 นวนิยายขนาดสั้นเรื่อง นิโงะริเอะ(にごりえ)ของอิชิโยก็ได้รับความนิยมจากผู้อ่านมากเช่นกัน ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีของชีวิตนักประพันธ์นั้น อิชิโยได้รังสรรค์บทกลอนกว่า 4000 บท เรื่องสั้น 21 เรื่อง และนวนิยายที่มีชื่อเสียง 2 เรื่อง คือ ทะเกะกุระเบะ และ นิโงะริเอะ ในช่วงท้ายของชีวิต อิชิโยอาศัยอยู่ในย่านโยะฌิวะระทำให้เธอรู้จักกับหญิงคณิกาหลายคน เนื่องจากพวกเธอเหล่านั้นมักขอให้อิชิโยช่วยเขียนจดหมายโต้ตอบกับลูกค้าแทนเนื่องจากไม่รู้หนังสือ ด้วยเหตุนี้เธอจึงเข้าใจและเห็นอกเห็นใจในสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของหญิงขายบริการเหล่านี้เป็นอย่างดีและสามารถถ่ายทอดออกมาในงานเขียนของเธอได้อย่างสมบูรณ์ งานเขียนของฮิงุชิ อิชิโยไม่ดำเนินไปตามกระแสหลักของสังคมในสมัยนั้นซึ่งนิยมงานเขียนที่รับมาจากตะวันตก เธอเลือกที่จะนำเรื่องราวรอบตัวที่ผู้คนไม่ได้ให้ความสนใจ เช่น เรื่องราวของหญิงคณิกา มาถ่ายทอด ซึ่งเป็นเหตุให้งานเขียนของเธอได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง งานเขียนของเธอนั้นสะท้อนความเป็นอิสระของปัจเจกชนโดยเฉพาะสตรี โดยได้แสดงทัศนะของตนผ่านทางวรรณกรรมได้เป็นอย่างดี วรรณกรรมของเธอแสดงให้เห็นถึงความสูงส่งของความรัก อีกทั้งเธอยังสร้างตัวละครรวมถึงแก่นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิดเรื่องอุดมคติ อันสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นนักเขียนแนวจินตนิยมอย่างชัดเจน
แม้ว่าฮิงุชิ อิชิโยจะป่วยเป็นวัณโรคและเสียชีวิตลงในวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1896 ในวัยเพียง 24 ปี แต่ก็ได้ทิ้งงานเขียนที่มีคุณค่าทางด้านวรรณกรรม จนทำให้ได้รับการยกย่องให้เป็นนักเขียนสตรีที่รังสรรค์วรรณกรรมสมัยใหม่เป็นคนแรกของญี่ปุ่น และได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนหญิงอาชีพคนแรกของญี่ปุ่น นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้หญิงคนที่ 3 ต่อจาก จักรพรรดินีจินกู(神功)และมุระซะกิ ฌิกิบุ(紫式部)ที่ได้รับการตีพิมพ์รูปลงในธนบัตร 5000 เยนของญี่ปุ่นอีกด้วยเมื่อปี ค.ศ. 1881 และ ค.ศ. 2000 ตามลำดับ
เดือนเต็ม กฤษดาธานนท์