โมะริ โองะอิ เป็นนักเขียนคนแรกของญี่ปุ่นที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้นำวงการวรรณกรรมสมัยเมจิ และผลงานของเขาถือเป็นต้นแบบของการเขียนวรรณกรรมเชิงจินตนิยม ผลงานจำนวนมากมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในต่างประเทศและได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ อีกด้วย
โองะอิ ถือกำเนิดในตระกูลผู้รับใช้ไดเมียว เขาได้เข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยแพทย์ของรัฐบาลและจบการศึกษาในปี ค.ศ. 1881 เมื่อมีอายุเพียง 19 ปี เป็นบัณฑิตแพทย์ที่อายุน้อยที่สุดในญี่ปุ่น โองะอิมีความสนใจในวรรณคดีญี่ปุ่นโดยเฉพาะวรรณกรรมยุคเอะโดะตอนปลาย นอกจากนั้นเขายังศึกษาวรรณคดีจีนและภาษาเยอรมันอีกด้วย
ในช่วงปี ค.ศ. 1884-1888 โองะอิได้รับทุนจากกองทัพญี่ปุ่นเพื่อไปศึกษาต่อในสาขาแพทยศาสตร์ที่ประเทศเยอรมัน ระหว่างที่ศึกษาอยู่ในเยอรมันนี้ เขาเริ่มสนใจวรรณกรรมตะวันตกโดยเฉพาะวรรณกรรมยุโรป วรรณกรรมเรื่องแรกที่โมะริ โองะอิเขียน ได้แก่ เรื่อง มะอิฮิเมะ(舞姫)ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในปี ค.ศ. 1890 จัดเป็นงานเขียนประเภทเรื่องสั้นที่เป็นเรื่องราวความรักระหว่างสาวนักบัลเล่ต์ชาวเยอรมันกับชายหนุ่มชาวญี่ปุ่น กล่าวกันว่าวรรณกรรมเรื่อง มะอิฮิเมะ นี้ เขียนขึ้นจากประสบการณ์จริงของเขาขณะที่ศึกษาอยู่ที่ประเทศเยอรมัน เมื่อเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่น เขาได้ทำงานเป็นแพทย์ประจำกองทัพและได้เริ่มรังสรรค์ผลงานต่าง ๆ ขึ้นมากมาย
โมะริ โองะอิได้รับอิทธิพลในการสร้างสรรค์ผลงานจากคาร์ล วอน ฮาร์ทมาน(Karl von Hartmann)นักเขียนแนวจินตนิยมที่เขาชื่นชอบ โมะริ โองะอิสามารถถ่ายทอดอารมณ์และสอดแทรกจินตนาการไว้ในงานเขียนได้เป็นอย่างดี ต่างจากนักเขียนแนวสัจนิยมอย่างท์ซุโบะอุชิ โฌโย และ ฟุตะบะเตะอิ ฌิเมะอิ ที่รังสรรค์ผลงานโดยมีพื้นฐานมาจากความเป็นจริง
ผลงานของโมะริ โองะอิได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ เช่น เรื่อง มะอิฮิเมะ วิตะ เซะกุซุอะริซุ(ヰタ・セクスアリス)คัน(雁)และ ซันโฌดะยู(山椒大夫)เป็นต้น นอกจากนี้ ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ยังมีอนุสรณ์สถานที่มีชื่อว่า Mori-Ogai-Gedenkstätte(Mori-Ogai Memorial Site)ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงนักเขียนและแพทย์ชาวญี่ปุ่นผู้นี้ ภายในอาคารมีการจัดแสดงภาพและเครื่องมือแพทย์รวมถึงข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับโมะริ โองะอิขณะที่ศึกษาอยู่ ณ ประเทศเยอรมันอีกด้วย
กล่าวได้ว่า นอกจากโมะริ โองะอิจะเป็นแพทย์ผู้ได้รับการยอมรับในกองทัพแล้ว เขายังเป็นนักเขียน นักวรรณคดี และนักแปลคนสำคัญคนหนึ่งของญี่ปุ่นที่ได้รังสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า โดยเฉพาะวรรณกรรมแนวจินตนิยมที่มีบทบาทต่อวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่และการศึกษาวรรณคดีญี่ปุ่นจวบจนปัจจุบัน
เดือนเต็ม กฤษดาธานนท์