โยะโกะมิโสะ เซะอิฌิ(横溝正史, ค.ศ. 1902-1981)

โยะโกะมิโสะ เซะอิฌิ เป็นนักเขียนนวนิยายสืบสวนชั้นแนวหน้าของญี่ปุ่น เกิดที่เมืองโกเบ จังหวัดเฮียวโงะ มีชื่อจริงว่า “โยะโกะมิโสะ มะซะฌิ” เข้าสู่วงการวรรณกรรมด้วยการแต่งเรื่องสั้นเรื่อง “โอะโซะโระฌิกิ เอพริลฟูล” (恐ろしき四月馬鹿(エイプリル・フール), 1921)และส่งไปประกวดในนิตยสาร “ฌินเซะอิเน็น” (新青年)เขาได้รับรางวัลที่หนึ่งจากผลงานเรื่องนี้ขณะอายุได้ 19 ปี

 

ในปี ค.ศ. 1925 เมื่ออายุ 23 ปี โยะโกะมิโสะได้พบกับเอะโดะงะวะ รัมโปะ(江戸川乱歩)ผู้เป็นปรมาจารย์ด้านนวนิยายลึกลับคนหนึ่งของญี่ปุ่นและถูกชวนเข้าร่วม “ชมรมผู้ชื่นชอบนักสืบ” ก่อนเดินทางเข้าโตเกียวพร้อมกับรัมโปะในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน เขาเข้าทำงานในสำนักพิมพ์ฮะกุบุงกัน ในปีต่อมา และได้รับตำแหน่งเป็นบรรณาธิการนิตยสาร “ฌินเซะอิเน็น” ขณะมีอายุเพียง 25 ปี แต่ก็ลาออกจากฮะกุบุงกันเมื่ออายุได้ 30 ปี ในปี ค.ศ. 1932 เพื่อหันมาทำงานเขียนหนังสือเต็มตัว แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาจำต้องหยุดงานแต่งนวนิยายสืบสวนไว้ก่อน เนื่องจากนวนิยายประเภทดังกล่าวถูกหาว่าเป็น “นวนิยายของประเทศศัตรู” อย่างไรก็ตาม เขายังแอบแลกเปลี่ยนหนังสือนวนิยายตะวันตก เช่น ผลงานของจอห์น ดิกสัน คาร์อ่านกับเพื่อน ๆ และระหว่างนั้นเขายังได้แต่งนวนิยายที่มีตัวละครเอกเป็นนักสืบชาวญี่ปุ่นในสมัยเอะโดะชุด นิงเงียวซะฌิชิ โทะริโมะโนะโช(人形佐七捕物帳, 1938)เพื่อหาเลี้ยงชีพ

 

ในช่วงอพยพลี้ภัยสงครามไปอยู่ที่จังหวัดโอะกะยะมะ โยะโกะมิโสะ ได้แต่งนวนิยายเรื่อง ฮนจิน ซะท์ซุจิน จิเก็น(本陣殺人事件, 1946)ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “ในห้องที่ปิดตาย” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ บลิสพับลิชชิง ในปี ค.ศ. 2007 ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นต้นกำเนิดของ “นวนิยายสืบสวนที่แท้จริง”(นวนิยายที่เน้นการไขปริศนาและกลอุบาย)ของญี่ปุ่น เพราะที่ผ่านมานวนิยายสืบสวนของญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีเนื้อหาเน้นความลึกลับและสยองขวัญ ผลงานเรื่องนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลประเภทนวนิยายเรื่องยาวจากชมรมนักเขียนนวนิยายนักสืบแห่งประเทศญี่ปุ่น(ปัจจุบันคือสมาคมนักเขียนนวนิยายสืบสวนแห่งประเทศญี่ปุ่น)

 

หลังจากนั้นเขาได้แต่งนวนิยายสืบสวนที่ผูกเรื่องด้วยการขมวดปมปริศนาอันซับซ้อนออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น โกะกุมนโต(獄門島, 1947)ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า “คดีฆาตกรรมบนเกาะโกะกุมน” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บลิสพับลิชชิง ในปี ค.ศ. 2006 ยะท์ซุฮะกะมุระ(八つ墓村, 1949)ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า “หมู่บ้านแปดหลุมศพ” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บลิสพับลิชชิง ในปี ค.ศ. 2005 อินุงะมิเกะ โนะ อิชิโสะกุ(犬神家の一族, 1950)ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า “ฆาตกรรมในตระกูลอินุงามิ” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บลิสพับลิชชิง ในปี ค.ศ. 2004 อะกุมะ งะ คิตะริเตะ ฟุเอะ โอะ ฟุกุ(悪魔が来りて笛を吹く, 1951)ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า “บทเพลงปีศาจ” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บลิสพับลิชชิง ในปี ค.ศ. 2005 ซึ่งทั้งหมดล้วนมีนักสืบชื่อคินดะอิชิ โคซุเกะเป็นตัวละครเอก กล่าวกันว่างานเขียนของเขาได้รับอิทธิพลของนักเขียนชาวตะวันตกหลายคน เช่น อากาธา คริสตี(Agatha Christie)พี ดี เจมส์(P.D.James)เอลเลอรี ควีน(Ellery Queen)อย่างไรก็ตาม เมื่อเขาอายุ 62 ปี สังคมญี่ปุ่นเริ่มหันไปสนใจนวนิยายสืบสวน “แนวสังคม” ที่เน้นการตีแผ่ความชั่วร้ายและอยุติธรรมในสังคม ทำให้โยะโกะมิโสะรู้สึกว่า นวนิยายสืบสวนแบบของเขาล้าหลัง จึงหยุดการเขียนไปเป็นเวลาประมาณ 10 ปี หลังจากตีพิมพ์เรื่อง โยะรุ โนะ คุโระเฮียว(夜の黒豹, 1964)ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า “เสือดำจากรัตติกาล” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ทาเลนต์ วัน ในปี ค.ศ. 2013

 

ในปี ค.ศ. 1971 สำนักพิมพ์คะโดะกะวะได้ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง ยะท์ซุฮะกะมุระ ในรูปแบบพ็อคเก็ตบุ๊ก ส่งผลให้งานเขียนของโยะโกะมิโสะกลับมาได้รับความนิยมอย่างสูงในเวลาต่อมา ในปี ค.ศ. 1975 โยะโกะมิโสะในวัย 73 ปี เริ่มเขียนผลงานใหม่เรื่อง เบียวอินสะกะ โนะ คุบิกุกุริ โนะ อิเอะ(病院坂の首縊りの家, 1975)เพื่อลงตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสาร “ยะเซะอิจิดะอิ”(野性時代)จนถึงปี ค.ศ. 1977 เรื่องนี้นับเป็นคดีสุดท้ายที่นักสืบคินดะอิชิ โคซุเกะปรากฏตัว อย่างไรก็ตาม ผลงานเรื่องสุดท้ายของนวนิยายชุดดังกล่าวได้แก่ อะกุเรียวโต(悪霊島, 1978)ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อว่า “เกาะวิญญาณอาถรรพ์” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บลิสพับลิชชิง ในปี ค.ศ. 2009 ผลงานเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร“ยะเซะอิจิดะอิ” จบในปี ค.ศ. 1980 ซึ่งขณะนั้นโยะโกะมิโสะอายุได้ 78 ปี

 

โยะโกะมิโสะ เซะอิฌิ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1981 ผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวกันว่าสำนักพิมพ์คะโดะกะวะได้ตีพิมพ์ผลงานของเขารวมแล้วกว่า 55 ล้านเล่ม นับเป็นนักเขียนนวนิยายสืบสวนผู้ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลคนหนึ่งของญี่ปุ่นที่ยากจะหาใครเสมอเหมือนได้

 

ชมนาด ศีติสาร

 

เอกสารอ้างอิง

別冊宝島1375(2007)『僕たちの好きな金田一耕介』宝島社

真山仁・森達也(2008)NHK知るを楽しむ『私のこだわり人物伝:6月横溝正史, 7月愛しの悪役レスラーたち』日本放送協会

Read more