การเล่นจ้องตากัน หรือ นิระเม็กโกะ(睨めっこ)เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของเด็กญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยคะมะกุระ ผู้เล่นจะทำหน้าตลกขณะจ้องตากัน ใครหัวเราะก่อนเป็นฝ่ายแพ้ โดยทั่วไปมักเล่นกันสองคน ผู้เล่นจะหันหน้าเข้าหากัน พลางร้องเพลงว่า “นิระเม็กโกะ ฌิมะโช วะระอุโตะมะเกะโยะ อัปปุปุ”(มาเล่นจ้องตากันเถอะ ใครหัวเราะก่อนแพ้นะ อัปปุปุ)พอร้องถึงท่อน “อัปปุปุ” แต่ละคนจะทำหน้าตลกแบบต่าง ๆ เพื่อให้อีกฝ่ายหัวเราะ กล่าวกันว่า ในสมัยเอโดะการละเล่นนี้ถูกเรียกว่า เมะกุระเบะ(目競)ตามชื่อของปีศาจตัวหนึ่งในภาพวาดปีศาจชุด “คนจะกุเฮียกกิฌูอิ”(今昔百鬼拾遺)ของจิตรกรชื่อโทะริยะมะ เซะกิเอ็น(鳥山石燕)ตามตำนานกล่าวว่า ปีศาจตัวนี้มีรูปร่างเป็นหัวกะโหลกมนุษย์ เช้าวันหนึ่งเมื่อทะอิระ โนะ คิโยะโมะริ(แม่ทัพคนหนึ่งในปลายสมัยเฮอันหรือประมาณศตวรรษที่ 12)มองเข้าไปในสวนก็เห็นปีศาจดังกล่าวจ้องมองเขาเขม็ง คิโยะโมะริร้องเรียกให้คนช่วยแต่ไม่มีใครมา จึงตัดสินใจจ้องตากับมัน โชคดีที่คิโยะโมะริมีสายตาแรงกล้ากว่า ปีศาจเลยพ่ายแพ้และหายตัวไป
ภัทร์อร พิพัฒนกุล
รายการอ้างอิง
「目競」http://ja.wikipedia.org/wiki/%E7%9B%AE%E7%AB%B6 2014/4/23
笹間良彦(2005)『日本こどものあそび大図鑑』遊子館