『その日本語、ちょっと変かも?』 第13回 答えを知らなくて

『その日本語、ちょっと変かも?』

第13回 答えを知らなくて

 

 

ซีรีส์นี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นของคนไทยที่สร้างความประหลาดใจให้แก่คนญี่ปุ่น ในแต่ละตอนเราจะยกตัวอย่างภาษาญี่ปุ่นที่หลายคนใช้กันจนคุ้นเคย และดูเหมือนไม่ผิดไวยากรณ์ตรงไหน แต่..ทำไมคนญี่ปุ่นถึงรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมชาติ พร้อมกับอธิบายว่าที่จริงแล้วควรพูดอย่างไร

 

 

 

 

ถ้าอยากจะบอกว่า "ไม่รู้" เราจะพูดเป็นภาษาญี่ปุ่นว่าอย่างไรดีนะ

”しらない” ”わからない” ???

ไปค้นหาคำตอบจากเนื้อหาในตอนที่ 13 นี้กันเลยนะคะ

 

 

 

 

 

 

สถานการณ์: ตอนกำลังถามเพื่อนเรื่องการบ้านภาษาญี่ปุ่น
 

 

เพื่อนคนญี่ปุ่น :「どの もんだい? 」(ข้อไหนเหรอจ๊ะ)
เพื่อนคนไทย :「この もんだいなんだけど、こたえを しらなくて・・・」

(การบ้านข้อนี้ เรา “ไม่รู้” คำตอบ) 

 

 

ทุกคนคิดว่าการพูดแบบนี้ถูกต้องหรือไม่คะ

 

 

 

 

 

 

 

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับคำว่า「しっている/しらない」กันดีกว่า
 

 

「しっている」ใช้เพื่อแสดงสภาพที่เรามีความรู้หรือข้อมูลซึ่งอาจจะได้มาจากคำบอกเล่าของผู้อื่นหรือได้มาจากการหาข้อมูลด้วยตัวเอง

ดังนั้น

 

「〇〇をしらない」จึงมีความหมายว่า ไม่มีความรู้หรือข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว หรือพูดอีกอย่างได้ว่า “ไม่รู้”
 

 

เพิ่มเติม
ส่วนคำว่า 「わかる」ใช้เพื่อแสดงสภาพการรับรู้ของตัวเองที่มีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพที่ไม่ชัดเจนไปสู่สภาพที่ชัดเจน สามารถใช้เพื่อบอกว่า ผู้ทำกริยานี้มีการใช้วิจารณญาณหรือการวินิจฉัยของตน ตลอดจนใช้ประสบการณ์หรือความรู้ของตน/คนอื่น ทำสิ่งที่ไม่ชัดเจนให้ชัดเจนขึ้น

เช่น 「にほんごが すこし わかってきた。」(เริ่มเข้าใจภาษาญี่ปุ่นขึ้นมาบ้างแล้ว)
หรือ 「どれが ほんものか わかる?」(รู้ไหมว่าอันไหนคือของจริง)

 

 

ดังนั้น

「〇〇がわからない」จึงมีความหมายว่า ไม่สามารถจัดการกับความรู้หรือข้อมูลที่มีจนนำไปสู่ความกระจ่างได้ หรือพูดอีกอย่างได้ว่า “ไม่เข้าใจ” นั่นเอง (แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ ในภาษาไทยสามารถพูดว่า “ไม่เข้าใจ” ว่า “ไม่รู้” ก็ได้)

อ้างอิง 砂川有里子(2018)「〈分かる〉と〈知る〉はどう違いますか」https://kotobaken.jp/qa/yokuaru/qa-49/ 

 

 

 

 

 

 

 

เพราะเหตุใดประโยคนี้「こたえを しらない」ถึงได้ฟังดูแปลกล่ะ
 

 

 กรณีที่ใช้กับการบ้าน “คำตอบ/คำเฉลย” ไม่ได้เป็นข้อมูล แต่สิ่งที่เราต้องคิดเอง (คนที่รู้คำตอบคืออาจารย์)
 

 

ดังนั้นหากเราพูดว่า 「こたえを しらない」จึงอาจทำให้เกิดความรู้สึกว่าผู้พูด “อยากได้แค่คำตอบโดยที่ไม่คิดหาคำตอบ” 

 

 

 

 

 

 

ถ้าอย่างนั้นควรพูดว่าอย่างไรดี?

 

 

ขอแนะนำให้ทุกคนใช้รูปประโยคนี้ค่ะ
 

「こたえが わからなくて・・・」 

 

 

 

 

 

คำอธิบายเพิ่มเติม

ตัวอย่างที่สามารถใช้ได้ทั้งคำว่า「しらない」และ「わからない」

1.コピーきの つかいかたが わからないので、おしえて ください。
2.コピーきの つかいかたを しらないので、 おしえて ください。
(ฉัน/ผมไม่รู้วิธีใช้เครื่องถ่ายเอกสาร ช่วยสอนให้หน่อยได้ไหมคะ/ครับ)
 

 

ในกรณีของประโยค 1 และ 2 ข้างต้น วิธีใช้เครื่องถ่ายเอกสารไม่ใช่สิ่งที่ต้องคิดด้วยตัวเอง แต่เป็นข้อมูลที่สามารถได้มาจากการถามผู้อื่น จึงใช้คำว่า 「しらない」ได้ ซึ่งในกรณีประโยคข้างต้นนี้ทั้ง「わからない」「しらない」มีความหมายแทบเหมือนกัน

เพิ่มเติม

ในกรณีนี้คำว่า 「わからない」มีความหมายว่า “ไม่ (สามารถทำความ) เข้าใจข้อมูล (=วิธีใช้เครื่องถ่ายเอกสาร) ที่มี” 

 

 

 

 

 

เราลองมาทบทวนกันอีกครั้งว่า ประโยค➀~➂ นี้ควรเลือกใช้คำใดจึงจะเหมาะสมที่สุด 

➀かぜを ひいた。あした がっこうへ いける かどうか___。
(ฉันเป็นหวัด{ไม่รู้}ว่าพรุ่งนี้จะไปโรงเรียนได้หรือเปล่า)

 

➁けさ ニュースを みるまで、その じこについて ぜんぜん___。
(ฉัน{ไม่รู้}เรื่องอุบัติเหตุนั้นเลยจนกระทั่งได้ดูข่าวเมื่อเช้า)

 

➂けんきゅうけいかくの かきかた___ので、あした せんせいに ききに いくつもりだ。
(เพราะว่า{ไม่รู้}วิธีเขียนแผนวิจัย พรุ่งนี้เลยจะไปถามอาจารย์)

 

(เฉลยอยู่ข้างล่างค่ะ)
.
.
.
.
.
.
➀かぜを ひいた。あした がっこうへ いける かどうか{わからない}。
➁けさ ニュースを みるまで、その じこについて ぜんぜん{しらなかった}。
➂けんきゅうけいかくの かきかた{がわからない/をしらない}ので、あした せんせいに ききに いくつもりだ。 

 

 

 

 

 

แล้วมาติดตามภาษาญี่ปุ่นของคนไทยที่คนญี่ปุ่นเองยังต้องฉงนในตอนต่อไปนะคะ

 

 

สามารถติดตามข้อมูลที่น่าสนใจ ข่าวสารประชาสัมพันธ์อื่น ๆ เกี่ยวกับสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ที่ facebook: สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น อักษรศาสตร์ จุฬาฯ หรือ  https://www.facebook.com/JapaneseChula/

Read more