ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับศาลนาชินโตและพุทธ หากเป็นการเฉลิมฉลอง เช่น การฉลองครบรอบอายุ การฉลองขึ้นปีใหม่ ชาวญี่ปุ่นจะไปนมัสการที่ศาลเจ้าชินโต และหากมีเรื่องทุกข์ใจก็จะไปวัดพุทธซึ่งมีพระสงฆ์คอยปัดเป่าทุกข์ภัย หรือทำพิธีศพเมื่อญาติเสียชีวิต หรือออกบวชเพื่อต่อชีวิต นอกจากพิธีกรรมต่าง ๆ ที่มีพระสงฆ์เกี่ยวข้องแล้ว ในวัดบางนิกาย เช่น นิกายเซ็น ยังมีการบำเพ็ญเพียร นั่งสมาธิอีกด้วย เนื่องจากศาลเจ้าชินโตและวัดพุทธต่างทำหน้าที่ต่างกัน ดังนั้น ในวัดที่มีชื่อเสียงก็จะมีศาลเจ้าเล็ก ๆ และศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงก็จะมีวัดพุทธเล็ก ๆ อยู่ภายในด้วย
ศาลเจ้าชินโตในประเทศญี่ปุ่น มีหลากหลายระดับ บ้างก็เป็นศาลเจ้าที่มีเฉพาะในท้องถิ่นนั้น เป็นที่สถิตย์ของดวงวิญญาณบรรพบุรุษ หรือวีรบุรุษในท้องถิ่นนั้น บ้างก็เป็นศาลเจ้าที่มีสาขาอยู่ทั่วญี่ปุ่น ลักษณะพิเศษของศาลเจ้าคือ มีโทะริอิ ซึ่งเป็นเสาคล้ายประตูบ่งบอกทางเข้าศาลเจ้าตั้งอยู่ ก่อนถึงศาลเจ้าจะมีทวารบาลเรียกว่า โคะมะอินุ(狛犬)ตกแต่งคล้ายสุนัขหรือสิงโตหรือสัตว์อื่น ๆ เช่น สุนัขจิ้งจอกในศาลเจ้าอินะริ ที่หน้าศาลเจ้าจะมีกล่องขนาดใหญ่ไว้สำหรับโยนเหรียญเพื่อแสดงการมานมัสการศาลเจ้า ส่วนใหญ่จะมีกระดิ่งขนาดใหญ่แขวนอยู่ด้วย หลังจากที่หยอดเหรียญ ผู้มานมัสการจะแกว่งเชือกเพื่อสั่นกระดิ่งให้มีเสียงดัง รอบ ๆ ศาลเจ้าอาจมีบริการทางด้านโชคลาง เช่น การขายเครื่องราง การเสี่ยงเซียมซี เป็นต้น ในเขตชุมชนเมืองบางแห่งมีพื้นที่แออัดมาก จะมีพื้นที่เล็ก ๆ เป็นตรอกสำหรับตั้งศาลเจ้าขนาดย่อมไว้บูชาเช่นกัน
ศาลเจ้าชินโตของญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงที่สุด ได้แก่ ศาลเจ้าอิเซะ และ ศาลเจ้าอิสุโมะ
ศาลเจ้าอิเซะ(伊勢神宮)ตั้งอยู่ในจังหวัดมิเอะ เป็นศาลเจ้าที่สถิตย์ของสุริยเทวีอะมะเทะระซุ(天照大御神)ซึ่งชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของราชวงศ์ญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นศาลเจ้าที่มีอายุเก่าแก่ มีการอ้างถึงในวรรณกรรมเกี่ยวกับกำเนิดเทพเจ้าญี่ปุ่น ศาลเจ้าแห่งนี้จึงสำคัญที่สุดในประเทศและมีความศักดิ์สิทธิ์มาก
ศาลเจ้าอิสุโมะ(出雲大社)ตั้งอยู่ในจังหวัดฌิมะเนะ เป็นศาลเจ้าที่มีอายุเก่าแก่ มีการอ้างถึงในวรรณกรรมเกี่ยวกับกำเนิดเทพเจ้าญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่สถิตย์ของมหาเทพโอกุนินุฌิ(大国主大神)เทพแห่งการสร้างประเทศและการแพทย์ นอกจากนี้ยังเป็นเทพแห่งความสัมพันธ์ ชายหญิงชาวญี่ปุ่นจึงนิยมจัดพิธีแต่งงานที่ศาลเจ้าแห่งนี้ และในเดือนตุลาคมของทุกปีจะมีการประชุมเหล่าเทพที่ศาลเจ้าแห่งนี้ ทำให้ในอดีตชาวญี่ปุ่นเรียกเดือนตุลาคมนี้ว่า “คันนะท์ซึกิ” หรือเดือนที่ไร้เทพเจ้า เพราะไปประชุมกันที่ศาลเจ้าอิสุโมะหมด
นอกจากศาลเจ้าทั้งสองแห่งแล้ว ยังมีศาลเจ้าอีกหลายแห่งที่มีชื่อเสียงประจำท้องถิ่น เช่น ศาลเจ้าเฮอัน ในจังหวัดเกียวโต เป็นศาลเจ้าที่จำลองสถาปัตยกรรมสมัยเกียวโตเก่า ศาลเจ้าเมจิในกรุงโตเกียว เป็นศาลเจ้าหลักประจำเมืองที่สถิตย์ดวงวิญญาณของจักรพรรดิเมจิ ศาลเจ้าเทนจินในจังหวัดโอซาก้า เป็นศาลเจ้าที่สถิตย์ของเทพเจ้าเทนจินของโอซาก้า เป็นต้น
ศาลเจ้ายะสุกุนิ(靖国神社)เป็นศาลเจ้าที่ใช้เป็นที่วางอัฐิของทหารหาญที่ตายในสงครามต่าง ๆ ตั้งแต่ปลายสมัยเอโดะ โดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่สอง นอกจากนี้ ยังมีการแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับทหารหาญอีกด้วย ดังนั้นศาลเจ้าแห่งนี้จึงเป็นที่รังเกียจของชาวจีนและเกาหลี เนื่องจากได้รับการสั่งสอนให้ระลึกถึงผู้ที่ถูกทารุณกรรมในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองโดยทหารญี่ปุ่น การที่บุคคลสำคัญของประเทศไปนมัสการศาลเจ้าแห่งนี้จึงแสดงออกถึงการฝักใฝ่หรือเห็นชอบกับการกระทำอันโหดร้ายของทหารญี่ปุ่นในอดีตทำให้เกิดเป็นข้อพิพาท นอกจากภาพลักษณ์ในฐานะศาลเจ้าแห่งสงครามแล้วยังมีชื่อเสียงเรื่องต้นซากุระ ซึ่งปัจจุบันกรมอุตุนิยมใช้ต้นซากุระที่นี่เป็นที่กำหนดวันดอกซากุระเริ่มบานของเมืองโตเกียว
วัดพุทธในประเทศญี่ปุ่นมีหลากหลายนิกาย วัดพุทธที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นในยุคที่ชาวญี่ปุ่นเลื่อมใสในศาสนาพุทธ และปัจจุบันได้กลายเป็นมรดกโลก เช่น วัดคิโยะมิสุเดะระ(清水寺)วัดคิงกะกุจิ(金閣寺)วัดกิงกะกุจิ(銀閣寺)จังหวัดเกียวโต วัดโทไดจิ(東大寺)วัดโฮริวจิ(法隆寺)จังหวัดนารา แต่ในปัจจุบันความนิยมในพุทธศาสนาลดลง การสร้างวัดพุทธขนาดใหญ่จึงแทบไม่มีปรากฏ วัดพุทธขนาดเล็กในบางท้องถิ่นจึงเป็นที่พักอาศัยสำหรับพระผู้ประกอบพิธีกรรม ซึ่งพระในบางนิกายสามารถแต่งงาน มีทายาทสืบธุรกิจวัดพุทธของตนต่อไป วัดพุทธที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ เช่น วัดเซนโซจิ(浅草寺)หรือวัดอะซะกุซะในกรุงโตเกียว วัดซันจูซันเก็นโด(三十三間堂)จังหวัดเกียวโต เป็นต้น วัดญี่ปุ่นจะมีทวารบาลเป็นยักษ์ อยู่ที่ทางเข้าวัด ในวัดจะมีระฆังขนาดใหญ่ใช้สำหรับทำวัตร ระฆังใหญ่นี้ ในวัดบางแห่งใช้ตีบอกวันสิ้นปี
อัษฎายุทธ ชูศรี