ยะมะดะ นะงะมะซะ(山田長政, ค.ศ.1590-1630)

ยะมะดะ นะงะมะซะ เกิดที่จังหวัดโอะวะริ(尾張国)ใกล้เมืองนาโงยา ทำหน้าที่หามเกี้ยวให้แก่เจ้าผู้ครองแคว้น ต่อมาได้เดินทางออกนอกประเทศเพื่อแสวงโชค คาดว่าเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาในปี ค.ศ.1612 ในรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม ต่อมาในปี ค.ศ.1621 ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าชาวญี่ปุ่นและเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่นมีบรรดาศักดิ์ว่าขุนชัยศร ยะมะดะ นะงะมะซะได้รับราชการด้วยความจงรักภักดีจนกระทั่งได้ดำรงตำแหน่งออกญาเสนาภิมุข มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับญี่ปุ่นและเป็นพ่อค้าคนกลางในการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ยังมีบทบาททางการเมืองอีกด้วย เมื่อพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต เขาพยายามรักษาราชบัลลังก์ให้แก่พระราชโอรสของพระเจ้าทรงธรรม ทำให้เกิดการขัดแย้งกับขุนนางผู้ใหญ่ คือ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ จึงถูกกำจัดโดยส่งตัวไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และถูกวางยาพิษจนเสียชีวิตไปในที่สุด

 

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชื่อของยะมะดะ นะงะมะซะจะได้รับการกล่าวถึงเสมอ เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะในช่วงที่ญี่ปุ่นสนใจขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การกล่าวอ้างก็เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาติทั้งสองที่มีมาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยอยุธยา และความจงรักภักดีของคนญี่ปุ่นที่เข้ามารับราชการในประเทศไทย ปัจจุบันมีนักวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการชาวญี่ปุ่นที่สนใจทำการศึกษาวิจัยเรื่องราวเกี่ยวกับยะมะดะ นะงะมะซะมากขึ้นอีกด้วย 

 

สุรางค์ศรี ตันเสียงสม

 

เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 20 จดหมายเหตุเรื่องทางไมตรีระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงญี่ปุ่น (พิมพ์ครั้งที่ 5) แปลจากภาษาอังกฤษของ เซอร์ เออเนสต์ ซาเตา โดย หลวงจินดาสหกิจ กรุงเทพ: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2523.
ซะโตะโกะ ทซึจิยะ “ภาพลักษณ์ของยามาดา นางามาซา ในความสัมพันธ์ระหว่างประทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นในคริสต์ศตวรรษที่ 20 “ วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2540. 

Read more