ยะมะกะตะ อะริโตะโมะ เป็นผู้นำทางการเมืองที่สำคัญคนหนึ่งในสมัยเมจิ(ค.ศ. 1868 – 1912)และสมัยทะอิโฌ(ค.ศ. 1912 – 1926)ยะมะกะตะเกิดในครอบครัวซามูไรชั้นต่ำที่เมืองฮะงิ(萩)ในแคว้นโชฌู(ปัจจุบันคือเขตยะมะกุชิ) ก่อนที่จะมาเป็นผู้นำในสมัยเมจิ ยะมะกะตะได้เข้าร่วมในขบวนการสำคัญต่าง ๆ ของประเทศในปลายสมัยโทะกุงะวะ เช่น ขบวนการ "ฟื้นฟูจักรพรรดิและขับไล่อนารยชน" หรือ ขบวนการ “ซนโน โจะอิ”(尊王攘夷)ซึ่งเป็นขบวนการล้มล้างรัฐบาลโทะกุงะวะในปี ค.ศ. 1867 และจัดตั้งรัฐบาลเมจิขึ้น
เมื่อจัดตั้งรัฐบาลในสมัยเมจิแล้ว ยะมะกะตะดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ในวงการเมือง เช่น ผู้บัญชาการกองทัพ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 2 สมัย(สมัยแรกระหว่างเดือนธันวาคม ค.ศ. 1889 – พฤษภาคม ค.ศ. 1891 สมัยที่สองเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1898 – ตุลาคม ค.ศ. 1900) นอกจากนั้นยังเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษา และสมาชิกสภารัฐบุรุษอาวุโส หรือ เก็นโร(元老)ซึ่งเป็นสภาที่มีอำนาจอย่างมากมายในวงการเมืองสมัยเมจิ
ยะมะกะตะเป็นนักการเมืองที่มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมและเป็นผู้หนึ่งที่ปลูกฝังลัทธิชาตินิยมในสังคมญี่ปุ่น เขาได้สร้างผลงานที่สำคัญ 3 ประการ คือ ออกประกาศกฎการเกณฑ์ทหารในปี ค.ศ. 1873 ปราบปรามกบฏซะท์ซุมะในปี ค.ศ. 1877 และประกาศพระบรมราโชวาทของจักรพรรดิพระราชทานแก่ทหารบกและทหารเรือในปี ค.ศ. 1882
ยะมะกะตะได้ปรับปรุงระบบทหารตามแบบปรัสเซีย เขานำระบบทหารแบบตะวันตกมาใช้ คนหนุ่มของญี่ปุ่นจะต้องถูกเกณฑ์เป็นทหารประจำการเป็นเวลา 3 ปี การปรับปรุงระบบทหารนี้ไม่เพียงเป็นการสร้างพื้นฐานในการสร้างกองทหารแบบตะวันตก แต่ยังเป็นการทำลายการแบ่งชนชั้นแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นอีกด้วย เขาได้ป้องกันไม่ให้พลเรือนเข้ามาแทรกแซงเรื่องทางการทหาร ในประกาศพระบรมราโชวาทของจักรพรรดิพระราชทานแก่ทหารบกและทหารเรือในปี ค.ศ. 1882 มีใจความสำคัญว่า ทหารจะต้องรับคำสั่งโดยตรงจากจักรพรรดิ และทหารจะต้องจงรักภักดีต่อพระองค์ ในฐานะผู้นำสูงสุดทางทหาร
สุรางค์ศรี ตันเสียงสม
Hackett, Robert F. 1971. Yamagata Aritomo in the Rise of Modern Japan. Harvard.