เอ็งกะเป็นเพลงประเภทหนึ่ง มักถูกนำมาเปรียบเทียบว่าคล้ายกับเพลงลูกทุ่งของไทย มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ คือ การร้องเอื้อนหรือใช้จังหวะที่เรียกว่า โคะบุฌิ(こぶし)เนื้อหาของเพลงมักคร่ำครวญถึงความรักและความเศร้าของหนุ่มสาว โดยมีคำสำคัญ เช่น เหล้า ทะเล น้ำตา ผู้หญิง สายฝน บ้านเกิดแดนไกล หิมะ หรือการจากลาในเนื้อเพลง เดิมเมื่อต้นสมัยเมจิซึ่งเป็นช่วงที่มีการรณรงค์สิทธิส่วนบุคคลมากขึ้น การพูดในที่สาธารณะถูกรัฐจำกัดขอบเขต ทำให้มีผู้ใช้วิธีร้องเพลงบนถนนเพื่อแสดงความคิดเห็นของตน เอ็งกะจึงเกิดจากอักษร “เอ็ง”(演 – えん การกล่าวสุนทรพจน์)กับ “กะ”(歌 –か เพลง)ต่อมาเอ็งกะเปลี่ยนเป็นการร้องเพลงเพื่อความบันเทิงบนถนนแทนการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เมื่อช่วงปี ค.ศ. 1960 นักร้องหญิงผู้หนึ่งชื่อ มิโซะระ ฮิบะริ(美空ひばり)ได้มีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาในฐานะราชินีเอ็งกะ และเพลงที่มีชื่อเสียงที่สุดเพลงหนึ่งของเธอคือ “เหล้าแห่งความเศร้า” หรือ คะนะฌิอิ ซะเกะ(悲しい酒)นักร้องเอ็งกะทั้งหญิงชายนิยมใส่ชุดกิโมโนขณะร้อง ช่วงปีทศวรรษที่ 1960 เป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมเพลงและดนตรีหลากหลายจากนานาประเทศ เกิดดนตรีประเภทเพลงสากลร่วมสมัย โฟล์กซองส์ เพลงร็อก ทำให้เอ็งกะกลายเป็นเพลงที่ผู้ฟังส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ จนกระทั่งในศตวรรษที่ 20 จากการปรากฏตัวของนักร้องเอ็งกะวัยรุ่นชื่อ ฮิกะวะ คิโยะฌิ(氷川 きよし)ได้ทำให้เพลงเอ็งกะกลายเป็นที่นิยมในกลุ่มหนุ่มสาวด้วย เพลงเอ็งกะที่รู้จักกันดีมีอยู่จำนวนมาก เช่น มิดะเระกะมิ(みだれ髪)ฟุนะอุตะ(舟唄)ยุกิงุนิ(雪国)โอะโมะอิเดะซะเกะ(おもいで酒)คิตะซะกะบะ(北酒場)เป็นต้น
ภัทร์อร พิพัฒนกุล