วีดีโอเกมเรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า เทะเระบิเกมุ(テレビゲーム)หมายถึง เกมที่ต้องต่อพ่วงเข้ากับทีวี โดยพัฒนามาจากการผลิตเกมตู้อาร์เคดที่มีหน้าจอเฉพาะในร้านเล่นเกม(game center)ในช่วงปี ค.ศ. 1980 วีดีโอเกมถือกำเนิดในปี ค.ศ. 1983 เมื่อบริษัทนินเทนโดได้ผลิตเครื่องเล่นเกมที่ต่อพ่วงกับทีวีในบ้าน ผู้เล่นสามารถเลือกซื้อซอฟต์แวร์มาเล่นได้ เรียกว่า Family Computer หรือย่อว่า "Famicom" หรือ FC เป็นเครื่องหน่วยความจำ 8 Bit
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน บริษัทเซก้าซึ่งคร่ำหวอดตลาดเกมตู้อาร์เคดหันมาสนใจตลาดเกมที่เล่นในบ้านเหมือนนินเทนโด จึงผลิตเครื่องเล่นเกมในบ้านที่ประสบความสำเร็จคือ เครื่อง "เมก้าไดรฟ์" ในปี ค.ศ. 1988 เป็นเครื่องหน่วยความจำ 16 Bit ความละเอียดของภาพจึงสูงกว่า แต่มีตลาดซอฟต์แวร์ที่แคบกว่า "Famicom"
เมื่อมีบริษัทต่าง ๆ หันมาสนใจผลิตซอฟต์แวร์เกม "Famicom" จึงประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง นอกจากตัวการ์ตูนจากเกมซูเปอร์มาริโอที่นินเทนโดผลิตเองแล้ว ยังมีเกมอีกหลากหลายประเภทที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกและสร้างวัฒนธรรมย่อยต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ปี ค.ศ. 1990 บริษัทนินเทนโดผลิตเครื่องเล่นเกมที่มีความจำ 16 Bit เทียบเท่ากับเมก้าไดรฟ์ของบริษัทเซก้า โดยใช้ชื่อว่า ซูเปอร์ฟามิคอม(SFC)และได้รับความนิยมพอสมควร
ความเจริญในการผลิตหน่วยความจำในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ทำให้ในปี ค.ศ. 1994 บริษัทโซนี่ได้เข้ามาบุกตลาดเครื่องเล่นเกม โดยผลิตเครื่องเล่นเกมชื่อ Play Station เป็นเครื่องเล่นแผ่นดิสก์ เกมมีความละเอียดสูง และมีบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์เกมดัง ๆ ให้การตอบรับเป็นอย่างดีทำให้เป็นที่นิยมแพร่หลายและตีตลาดเหนือเครื่องเล่นเกมของบริษัทนินเทนโด
แม้ว่าหลังจากนั้นจะมีการผลิตวีดีโอเกมรุ่นใหม่ เช่น นินเทนโด 64 ปี ค.ศ. 1996 ซึ่งมีความจำมากขึ้น และเกมคิวบ์ปี ค.ศ. 2001 ในขณะที่บริษัทเซก้าคู่แข่งได้ผลิตเครื่องเล่นเกมดรีมแคสต์ปี ค.ศ. 1998 เป็นรุ่นสุดท้ายก่อนจะถอนตัวจากตลาดเกมบนจอทีวี หรือการที่บริษัทไมโครซอฟต์ส่งเครื่อง X-box เข้ามาแข่งขันในปี ค.ศ. 2001 ก็ไม่เป็นที่นิยมเท่า Play Station ของโซนี่ที่ได้พัฒนารุ่นที่ 2 และ 3 ต่อมา
นอกจากวีดีโอเกมที่ต้องพ่วงกับหน้าจอทีวีแล้ว ในปี ค.ศ. 1989 บริษัทนินเทนโดได้หันมาให้ความสนใจกับเกมพกพาซึ่งในสมัยก่อนหน้านั้นเป็นเกมกดที่มีความจำไม่มาก จึงผลิต "เกมบอย" ขึ้นมาและพัฒนาจากจอขาวดำเป็นจอสี มีความละเอียดของภาพมากยิ่งขึ้น จนในปี ค.ศ. 2004 จึงเริ่มผลิตเครื่อง "นินเทนโด DS” ที่ถือเป็นเครื่องเล่นเกมแนวใหม่เพราะใช้ปากกาสไตลัสขีดเขียนหรือควบคุมหน้าจอได้โดยตรง และนินเทนโดหันมาพัฒนาเครื่องเล่นเกมแนวพกพานี้แทนหลังจากที่ไม่สามารถแข่งขันกับ Play Station ของโซนี่ในตลาดเครื่องเล่นเกมพ่วงทีวีได้ จุดเด่นในการพัฒนาวิธีการเล่นแนวใหม่ทำให้นินเทนโดหันกลับไปพัฒนาเครื่องเล่นเกมพ่วงทีวีใหม่ ชื่อว่า Wii โดยพัฒนาปุ่มบังคับให้เป็นแป้นบังคับที่สามารถเหวี่ยง หรือแป้นบังคับที่ใช้เหยียบ ทำให้สามารถเล่นเกมได้หลากหลาย
ตลอดช่วง 30 ปี วีดีโอเกมมีบทบาทต่อสังคมเป็นอย่างมาก เช่น วีดีโอเกมในยุคหนึ่งทำให้ผู้เล่นสนใจเล่นเกมคนเดียวมากกว่าการไปเล่นกับเพื่อน จึงมีการผลิตเกมและลักษณะเครื่องเล่นที่เล่นกันหลายคนแล้วจะสนุกยิ่งขึ้น หรือเครื่องเล่นเกมที่เล่นกันได้ทั้งครอบครัว ไปจนถึงเครื่องเล่นเกมที่ใช้ดูเมนูอาหาร ใช้ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมอย่างอื่นได้มากขึ้น
รูปแบบเกมที่เล่นในวีดีโอเกมมีหลายแนว
เกมแนวแรกที่รู้จักกันคือ แนวผจญภัย เป็นเกมที่ต้องบังคับปุ่มให้เคลื่อนไหวไปมา ส่วนใหญ่เป็นเกมต่อสู้ เช่น เกม Contra ซึ่งเป็นเกมยิงปืนปราบเอเลี่ยน เกม Rockman เกมตัวการ์ตูนต่าง ๆ เป็นต้น
เกมแนว RPG หรือ Role-Playing Game เป็นเกมเนื้อเรื่อง สามารถบังคับทิศทางให้เดินทางไปทั่วแผนที่ แต่ไม่สามารถต่อสู้ศัตรูได้โดยอิสระต้องใส่คำสั่ง ในประเทศไทยจึงเรียกว่า เกมภาษา เพราะจำเป็นต้องเข้าใจภาษาญี่ปุ่นเพื่อให้ดำเนินเรื่องต่อไปได้ เกมที่รู้จักแพร่หลายคือ ดรากอนเควสต์(Dragon Quest)และไฟนอลแฟนตาซี(Final Fantasy)ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่ผู้เล่นเกมทั่วโลกจนมีภาคต่อมานับไม่ถ้วน และมีการนำเนื้อเรื่องไปขยายเรื่องราวเป็นหนังสือการ์ตูนและภาพยนตร์ อีกทั้งยังถือได้ว่าเป็นแม่แบบเกมออนไลน์ประเภท RPG ที่ผลิตในประเทศอื่น ๆ ในปัจจุบันอีกด้วย
เกมแนวแอคชั่นต่อสู้ หรือ Fighting แตกต่างจากแนวผจญภัยคือ ไม่มีการเลื่อนฉาก ผู้เล่นจะบังคับตัวละครให้ต่อสู้กับตัวละครอีกตัว เกมที่รู้จักแพร่หลายคือ Street Fighter ซึ่งได้รับความนิยมจากเกมตู้อาร์เคดมาก่อน
เกมบอร์ด หรือ Board Game เป็นเกมฝึกประลองเชาวน์ต่าง ๆ เช่น เกมไพ่ เกมโอเต็ลโล่ และเกมเทตริส(Tetris)ซึ่งเป็นเกมจัดเรียงไม้รูปทรงต่าง ๆ ให้เรียงกันโดยไม่มีช่องว่างที่ได้รับความนิยมมาก
เกมยิง หรือ Shooting Game เป็นเกมยิงคู่ต่อสู้โดยต้องหลบหลีกศัตรูหรือสิ่งกีดขวางระหว่างยิง เกมยิงส่วนใหญ่ผู้เล่นจะบังคับจรวดเพื่อยิงศัตรูที่มาจากด้านบนของจอ
ในปัจจุบัน ยังมีการสร้างเกมแนวใหม่ออกมามากมาย เช่น เกมแนวเนื้อเรื่องที่เป็นฉากพูดคุยไปเรื่อย ๆ ให้ผู้เล่นตัดสินใจเลือกทำกิจกรรมต่าง ๆ เนื้อเรื่องอาจเป็นแนวสืบสวน หรือแนวคบแฟนที่มีแนวจบเรื่องหลายแนว หรือเกมแนวเลี้ยงสัตว์ซึ่งได้รับอิทธิพลจากความนิยมทามาก็อตจิ(たまごっち)เป็นต้น
อัษฎายุทธ ชูศรี