ซูโม่คือศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าคล้ายมวยปล้ำของญี่ปุ่น แข่งกันระหว่างผู้เล่นสองคน กติกาโดยทั่วไปของซูโม่คือ ถ้าทำให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของคู่ต่อสู้ที่ไม่ใช่ฝ่าเท้าแตะพื้นหรือออกไปนอก “โดะเฮียว”(土俵)หรือเวทีซูโม่ก่อนได้ถือว่าชนะ ซูโม่มีประวัติความเป็นมายาวนานย้อนกลับไปถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ เพราะมีการค้นพบตุ๊กตาดินเผา(埴輪)ซึ่งนักโบราณคดีลงความเห็นว่าคือรูปปั้น “ริกิฌิ”(力士)หรือนักซูโม่ที่สันนิษฐานว่าทำขึ้นในช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล นอกจากนี้เรื่องราวของการต่อสู้กันแบบซูโม่ยังปรากฏในวรรณคดีเก่าแก่ของญี่ปุ่น เช่น เรื่องการประลองกำลังเพื่อชิงแผ่นดินระหว่างเทพทะเกะมิกะสุชิกับเทพทะเกะมินะกะตะในหนังสือโคะจิกิ(古事記)การต่อสู้ของทะอิมะ โนะ เคะฮะยะกับโนะมิ โนะ ซุกุเนะ ในสมัยจักรพรรดิซุอินินที่ปรากฏในหนังสือนิฮนโฌะกิ(日本書紀)ซึ่งเรื่องหลังนี้มีบันทึกว่าต่อสู้กันในวันที่ 7 เดือน 7 อันเป็นวันที่มีการจัดการแข่งขันซูโม่ในราชสำนักที่เรียกว่า “ซุมะอิ โนะ เซะชิ”(相撲節)หรือการประลองกำลังของนักซูโม่ที่รวบรวมมาจากทั่วประเทศต่อหน้าพระพักตร์ของจักรพรรดิในช่วงต้นศตวรรษที่ 8 ถึงปลายศตวรรษที่ 12
ซูโม่ถือเป็นการต่อสู้อย่างหนึ่งที่นิยมในหมู่นักรบ ในปลายสมัยคะมะกุระจนถึงมุโระมะชิจึงเกิดการแข่งขันซูโม่เพื่อหาเงินบูรณะหรือสร้างศาลเจ้าและวัดที่เรียกว่า “คันจินซูโม่”(勧進相撲)ขึ้น นักซูโม่ที่เข้าแข่งซูโม่ประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นนักรบหรือนักซูโม่ในสังกัดของชนชั้นนักรบ คันจินซูโม่รุ่งเรืองถึงขีดสุดเมื่อเข้าสมัยเอโดะ มีการกำหนดรูปแบบและกติกาการแข่งขันต่าง ๆ ที่สืบเนื่องมาถึงกีฬาซูโม่อาชีพในปัจจุบัน เช่น ชื่อตำแหน่งของนักซูโม่ เวที กรรมการ ท่าในการเอาชนะคู่ต่อสู้(決まり手)รูปแบบการจัดแข่งขันที่มีการเก็บค่าเข้าชม
เมื่อย่างเข้าสมัยเมจิอันเป็นยุคของการปฏิรูปประเทศให้เป็นตะวันตก มีการออกประกาศห้ามการเปลือยกายซึ่งส่งผลต่อนักซูโม่ที่ใส่เพียงผ้าคาดเอว(まわし)ในการแข่งขัน แต่วิกฤตนี้ก็ผ่านพ้นไปได้เมื่อมีการจัดแข่งซูโม่ถวายจักรพรรดิเมจิในปี 1884 ส่งผลให้ซูโม่กลายเป็นกีฬาที่ยอมรับในสังคม ในปี 1904 สนามเรียวโงะกุ โคะกุงิกัน(両国国技館)ซึ่งเป็นสนามซูโม่ถาวรสร้างเสร็จและเปิดใช้ ทำให้ซูโม่ถูกยกขึ้นเป็นกีฬาประจำชาติของญี่ปุ่น สมาคมซูโม่ญี่ปุ่น(日本相撲協会 เดิมคือสมาคมซูโม่โตเกียว)ซึ่งกำกับดูแลและจัดการแข่งขันซูโม่อาชีพในปัจจุบันก่อตั้งขึ้นในปี 1925 ต่อมาในปี 1927 มีการยุบสมาคมซูโม่โอซากามารวมด้วย ทำให้กลายเป็นสมาคมซูโม่เพียงหนึ่งเดียว ปัจจุบันซูโม่อาชีพมีการแข่งขันทัวนาเมนต์ใหญ่ปีละ 6 ครั้ง ครั้งละ 15 วัน ในจำนวนนี้มีการแข่งขันที่สนามเรียวโงะกุ โคะกุงิกันในกรุงโตเกียว 3 ครั้งคือในเดือนมกราคม พฤษภาคม และกันยายน ส่วนการแข่งขันอีก 3 ครั้งในเดือนมีนาคม กรกฎาคม และพฤศจิกายนจัดที่เมืองโอซากา นาโงย่า และฟุกุโอกะตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการตระเวนไปแข่งตามจังหวัดต่าง ๆ ในช่วงระหว่างทัวนาเมนต์ที่เรียกว่า ชิโฮจุงเงียว(地方巡業)ด้วย
ซูโม่อาชีพแบ่งออกเป็น 6 ระดับตามผลการแข่งขันได้แก่ มะกุอุชิ(幕内)จูเรียว(十両)มะกุฌิตะ(幕下)ซันดันเมะ(三段目)โจะนิดัน(序二段)และโจะโนะกุชิ(序の口)ตามหลักแล้วนักซูโม่ในระดับเดียวกันจะแข่งขันกันเอง ลำดับของนักซูโม่เรียกว่า บันสุเกะ(番付)นักซูโม่ที่ไต่เต้าขึ้นไปถึงสองระดับบนสุดหรือมะกุอุชิและจูเรียวเรียกว่า เซะกิโตะริ(関取)ซึ่งจะได้รับเงินเดือนจากสมาคม และในบรรดาเซะกิโตะริ ยังมีการจัดตำแหน่งตามความสามารถอีกเป็น โยะโกะสุนะ(横綱)โอเสะกิ(大関)เซะกิวะเกะ(関脇)โคะมุซุบิ(小結)และมะเอะงะฌิระ(前頭)หรือฮิระมะกุ(平幕)ตำแหน่งโยะโกะสุนะซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดมีได้ถึง 4 คนในเวลาเดียวกัน ผู้ได้ตำแหน่งนี้จะไม่ตกลงมาระดับต่ำกว่าแม้ผลการแข่งขันในแต่ละทัวนาเมนต์ไม่ดี ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ สามารถเลื่อนขึ้นลงได้ในแต่ละทัวนาเมนต์ เกณฑ์โดยทั่วไปในการเลื่อนลำดับคือ ต้องชนะให้ได้มากกว่าแพ้ในแต่ละทัวนาเมนต์ หมายความว่าต้องชนะให้ได้ 8 ครั้งขึ้นไปในการแข่ง 15 ครั้ง ท่าในการเอาชนะเดิมมี 48 ท่า แต่ต่อมาในปี 1960 มีการปรับให้เป็น 70 ท่า(แต่มีท่าสำคัญที่ใช้บ่อยครั้งประมาณ 20 – 30 ท่า)นอกจากนี้ยังมีท่าที่ห้ามใช้ เช่น ใช้นิ้วทิ่มตา ต่อยด้วยหมัด เตะหน้าอกและลำตัว คว้าผมคู่ต่อสู้ นักซูโม่อาชีพจะต้องสังกัดค่ายซูโม่หรือ ซูโม่เบะยะ(相撲部屋)ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่รวมทั้งสิ้น 45 ค่าย หัวหน้าค่ายเรียกว่า โอะยะกะตะ(親方)มักเป็นนักซูโม่อาชีพมาก่อน นักซูโม่ทุกคนต้องกินนอนที่ค่ายแม้แต่งงานแล้ว นักซูโม่ระดับเซะกิโตะริขึ้นไปจะได้ห้องส่วนตัว แต่ระดับต่ำกว่านั้นต้องอยู่รวมกันในห้องใหญ่ที่เรียกว่า โอเบะยะ(大部屋)
การที่ซูโม่ถูกมองว่าเป็น “กีฬาประจำชาติ” ของญี่ปุ่นส่วนหนึ่งอาจเพราะมีขนบธรรมเนียมมากมายที่สืบทอดมาแต่โบราณ เช่น การที่นักซูโม่แต่งตัวโดยใช้คาดผ้าคาดเอว(まわし)และเกล้าผมทรง “โออิโช”(大銀杏)ชุดของกรรมการ พิธีบวงสรวงเวที ท่าย่ำเท้าของนักซูโม่ อีกทั้งในทางคติความเชื่อ มีการนำซูโม่มาประกอบพิธีกรรมของชินโตมาแต่โบราณ เช่น พิธีเสี่ยงทาย พิธีขอฝน พิธีซูโม่ร้องไห้ พิธีเสี่ยงทายเป็นพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ มีการทำนายปริมาณการเก็บเกี่ยวพืชผลจากผลแพ้ชนะของการแข่งซูโม่ พิธีขอฝนด้วยการเล่นซูโม่ส่วนมากใช้นักซูโม่หญิง เพราะเชื่อกันว่า หากให้ผู้หญิงเปลือยกายท่อนบนและเล่นซูโม่ เทพเจ้าจะพิโรธและทำให้ฝนตก ส่วนพิธีซูโม่ร้องไห้คือการนำเด็กทารกสองคนมาร้องไห้แข่งขันกัน เชื่อกันว่าการทำแบบนี้จะเป็นเคล็ดทำให้เด็กเติบโตอย่างแข็งแรง นอกจากนี้ซูโม่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการบำเพ็ญพรตของ ยะมะบุฌิ(山伏)หรือนักบวชในลัทธิฌุเง็นโด(修験道)ด้วย ถึงแม้พิธีกรรมเหล่านี้แทบไม่พบเห็นแล้วในปัจจุบัน หรือมีการจัดในบริบทที่เปลี่ยนไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ซูโม่เป็นการต่อสู้ที่มีองค์ประกอบในเชิงวัฒนธรรมมากมายต่างจากกีฬาสมัยใหม่ทั่วไป
ชมนาด ศีติสาร