หมากรุกญี่ปุ่น 将棋

หมากรุกญี่ปุ่นหรือโฌงิ(将棋)เป็นหมากกระดานอย่างหนึ่งที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น ลักษณะการเล่นจะคล้ายหมากรุกทั่วไปคือ มีผู้เล่น 2 ฝ่าย แต่ละฝ่ายจะผลัดกันเดินเพื่อ “กิน” ขุนของฝ่ายตรงข้ามให้ได้ แต่หมากรุกญี่ปุ่นมีกติกาพิเศษที่แตกต่างจากหมากรุกทั่วไปคือ เมื่อกินฝ่ายตรงข้ามแล้ว สามารถนำตัวที่กินได้นั้นมาใช้เสริมทัพตัวเอง

 

อุปกรณ์การเล่นประกอบด้วย กระดาน(将棋盤)และตัวหมาก(駒)กระดานมีขนาด 9 x 9 ช่อง โดยทั่วไปทำด้วยไม้ มีทั้งแบบพับได้และแบบเป็นแผ่นเดียว หรือถ้าเป็นแบบพกพาก็อาจทำด้วยกระดาษ ส่วนตัวหมากมีลักษณะเป็นรูป 5 เหลี่ยมทำด้วยไม้หรือพลาสติก บนตัวหมากมีอักษรสีดำเขียนไว้เพื่อแสดงชนิดของตัวหมาก ตัวหมากที่สามารถเลื่อนขั้น(โดยทั่วไปเรียกว่า “หงาย” หรือ “พลิก”)ได้จะมีชื่อตัวหมากที่เลื่อนขั้นแล้วซึ่งอาจเขียนด้วยสีดำหรือสีแดงอยู่ด้านใต้ ตัวหมากแต่ละประเภทมีขนาดต่างกัน ประกอบด้วย ขุน(王将)เรือ(飛車)เมื่อหงายจะเป็นมังกร(竜王)คะกุ(角行)ซึ่งบางคนอาจเรียกบิชอป เพราะเดินเหมือนตัวบิชอปของหมากรุกสากล เมื่อหงายจะเป็นอุมะ(馬)หรือชื่อเต็มว่าริวมะ(竜馬)ทอง(金将 หรือขุนพลทอง)เงิน(銀将 หรือขุนพลเงิน เมื่อหงายจะเป็นทอง)ม้า(桂馬 เมื่อหงายจะเป็นทอง)หอก(香車 เมื่อหงายจะเป็นทอง)และเบี้ย(歩兵 เมื่อหงายจะเป็นทอง)ชื่อตัวหมากภาษาญี่ปุ่นที่ระบุไว้เป็นชื่อเต็มแต่โดยทั่วไปจะเรียกชื่อย่อเฉพาะเสียงที่ขีดเส้นใต้

 

นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์เสริมได้แก่แท่นวางหมาก(駒台)ไว้วางหมากที่กินมาได้ เพื่อให้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามเห็นชัดเจนว่า เรามีตัวหมากอะไรที่สามารถลงเสริมทัพได้

 

กติกาโดยสังเขปคือ ผู้เล่นจะเดินหมากของตนตามตำแหน่งที่เดินหรือ “กิน” ได้ ถ้ามีเชลยในมือสามารถวางเชลยแทนการเดินได้ทีละ 1 ตัว นอกจากนี้ผู้เล่นยังสามารถหงายตัวหมากที่เดินเข้าสู่หรือออกจากสามแถวสุดท้ายปลายกระดานฝั่งตรงข้าม การจะหงายหรือไม่หงายขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้เล่น ยกเว้นตัวหมากที่ไม่สามารถเดินต่อจะถูกบังคับให้หงายโดยอัตโนมัติ ผู้ที่สามารถกินขุนฝ่ายตรงข้ามได้ก่อนเป็นผู้ชนะ

 

หมากรุกญี่ปุ่นได้รับความนิยมสูงจนมีคำศัพท์เฉพาะหลายอย่างที่กลายมาเป็นคำศัพท์ที่ใช้กันทั่วไปในภาษาญี่ปุ่น เช่น โอเตะ(รุกฆาต)ท์ซุมิ(ถูกรุกฆาตจนไม่มีทางไป)ฮิฌฌิ(สภาพที่ถ้าเป็นตาฝ่ายตรงข้ามเขาจะสามารถไล่เราจนได้ เราต้องรุกเขาให้จนก่อนหรือหาทางแก้ ภาษาทั่วไปใช้ในความหมายว่า “เป็นเช่นนั้นแน่นอน”)โมะชิโกะมะ(เชลย ภาษาทั่วไปใช้ในความหมายว่า “ลูกน้องหรือหนทางที่เราสามารถใช้ได้”)โฌงิดะโอะฌิ(การล้มต่อ ๆ กันแบบโดมิโน) 

ในประเทศไทย ผู้สนใจหมากรุกญี่ปุ่นสามารถไปเล่นได้ทุกบ่ายวันเสาร์ที่สมาคมญี่ปุ่นในประเทศไทย(タイ国日本人会)ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารสาธรธานี 
 

ภูมิ เหลืองจามีกร

Read more