หมากล้อม 碁 / 囲碁

หมากล้อม หรือ โกะ(碁)หรือ อิโงะ(囲碁)เป็นหมากกระดานที่มีต้นกำเนิดในประเทศจีน แต่ปัจจุบันนิยมเล่นอย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น มีการส่งเสริมและพัฒนาขึ้นจากของจีนเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการที่คำศัพท์เฉพาะต่าง ๆ ในวงการหมากล้อมส่วนใหญ่จะใช้คำภาษาญี่ปุ่น จนมีคำกล่าวว่า “หมากล้อมเกิดที่จีน โตที่ญี่ปุ่น”

 

อุปกรณ์หลักที่ใช้ในการเล่นหมากล้อม ได้แก่ กระดานโกะ(碁盤)และเม็ดหมาก(碁石)กระดานมาตรฐานที่ใช้ในการแข่งขันมีจำนวนเส้นที่ตีเพื่อเป็นจุดให้วางหมากจำนวน 19 x 19 เส้น การวางเม็ดหมากจะวางบนจุดตัดของเส้น ซึ่งจะมีทั้งสิ้น 361 จุด นอกจากนี้ยังมีกระดานสำหรับผู้เริ่มเล่นขนาด 9 x 9 เส้น และ 13 x 13 เส้นด้วย ส่วนเม็ดหมากมี 2 สี คือ สีขาว และ สีดำ ปกติเวลาซื้อเป็นชุดจะมีเม็ดหมากสีดำ 181 เม็ดและหมากสีขาว 180 เม็ด นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์เสริมอันได้แก่ โถเก็บเม็ด(碁笥)เม็ดหมากจะถูกเก็บไว้ในโถ เวลาเล่นจึงค่อยหยิบออกมาวางบนกระดานทีละเม็ด ฝาของโถเก็บเม็ดมีไว้เพื่อวางเชลยหรือเม็ดหมากของคู่ต่อสู้ที่ “กิน” มาได้

 

หมากล้อมมีกติกาโดยสังเขปคือ ผู้เล่นจะผลัดกันวางเม็ดหมากลงบนจุดตัดของเส้นบนกระดานทีละเม็ด ถ้าล้อมปิดฝ่ายตรงข้ามได้ทุกด้านจะถือว่า “กิน” เม็ดหมากเม็ดนั้น(หรือกลุ่มนั้น)ได้ เม็ดหมากที่ถูกกินทั้งหมดจะถูกนำออกจากกระดานกลายเป็นหมากเชลย และพื้นที่ที่ถูกกินก็จะตกเป็นของฝ่ายที่กิน เมื่อวางจนทั้งสองฝ่ายต่างเห็นว่าไม่มีตำแหน่งที่จะวางเพื่อเป็นประโยชน์ต่อรูปเกมอีกต่อไป ให้ถือว่าจบเกมเริ่มนับคะแนนได้ คะแนนที่นับคือพื้นที่ที่กินมาได้บวกกับพื้นที่ที่ล้อมเอาไว้ได้โดยฝ่ายตรงข้ามไม่กล้าเข้ามา ก่อนลบด้วยจำนวนเชลยที่เสียไป ฝ่ายไหนได้คะแนนมากกว่าจะเป็นผู้ชนะ ปกติแล้วผู้เดินก่อนมักได้เปรียบ ดังนั้นในการแข่งขันจริงจะมีแต้มต่อให้ผู้เดินทีหลัง 6.5 แต้ม

 

ว่ากันว่าในประเทศไทยมีผู้เล่นหมากล้อมราว 2 ล้านคน ซึ่งถือว่ามากเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจาก จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และไต้หวัน ตัวเลขดังกล่าวประมาณการจากจำนวนชุดหมากล้อมที่ขายได้ในประเทศไทย ปัจจุบันมีการส่งเสริม สนับสนุนการจัดแข่งขันและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหมากล้อมอย่างจริงจังโดยสมาคมหมากล้อมแห่งประเทศไทย ผู้สนใจสามารถศึกษาหาข้อมูลเรื่องการฝึกฝน โปรแกรมการแข่งขัน สถานที่เล่นหมากล้อม ฯลฯ ได้จากเว็บไซต์ของสมาคม http://www.thaigo.org/

 

ภูมิ เหลืองจามีกร

Read more
กอล์ฟ ゴルフ

กอล์ฟ ゴルフ

中山光男 เขียน; ชมนาด ศีติสาร แปลและเขียน | Jun 1, 2020