อุกิงุโมะ หรือ เมฆลอย เป็นวรรณกรรมสมัยใหม่เรื่องแรกของญี่ปุ่น เขียนโดยฟุตะบะเตะอิ ฌิเมะอิ(二葉亭四迷, ค.ศ. 1864–1909)ในปี ค.ศ. 1887 วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นนวนิยายขนาดยาว มีทั้งหมดสามตอน ได้รับการตีพิมพ์ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1887–1889 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมญี่ปุ่นในช่วงปี ค.ศ. 1886 อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี ค.ศ. 1868(ช่วงการปฏิรูปเมจิ)เนื้อเรื่องดำเนินไปโดยมีตัวละครหลักสี่ตัวที่มีบุคลิกสะท้อนให้เห็นถึงภาพของผู้คนในยุคนั้นที่มีลักษณะแนวคิดและค่านิยมที่แตกต่างกัน ได้แก่ “บุนโส”(文三)ตัวละครเอก เป็นตัวแทนของคนญี่ปุ่นยุคก่อนการปฏิรูปที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ “บุนโส” เป็นคนฉลาด ขยันขันแข็งในการศึกษาเล่าเรียนและการทำงาน ซื่อสัตย์ รักความถูกต้อง เนื่องจากเป็นคนพูดตรงไปตรงมาและกล้าแสดงความคิดเห็นคัดค้านเจ้านาย จึงทำให้บุนโสไม่เป็นที่ชื่นชอบของเจ้านายนัก และในที่สุดก็ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต
ตัวละคร “ฮนดะ”(本田)เพื่อนร่วมงานของบุนโสเป็นคนหัวสมัยใหม่ ให้ความสำคัญกับเงินตรา นิยมการเข้าสังคม ถือได้ว่าเป็นบุคคลจำพวกวัตถุนิยม ฉวยโอกาส ช่างประจบประแจง แต่ด้วยนิสัยเหล่านี้ของฮนดะนี่เองที่ทำให้เขาเป็นที่รักใคร่ของเจ้านาย และได้รับการสนับสนุนให้มีตำแหน่งงานที่สูงกว่าบุนโส อีกทั้งยังได้ความรักจากหญิงสาวที่ครั้งหนึ่งเคยรักใคร่ชอบพอกับบุนโสอีกด้วย นิสัยที่ตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิงของบุนโสและฮนดะสะท้อนให้เห็นขั้วตรงข้ามที่แตกต่างกันของคนสองประเภทในสังคมสมัยเมจิ อีกทั้งเหตุการณ์ที่ฟุตะบะเตะอิ ฌิเมะอิได้สร้างสรรค์ขึ้นในนวนิยายนั้นแสดงให้เห็นว่าความเฉลียวฉลาดและความขยันขันแข็งไม่มีความสำคัญเท่ากับการรู้จักประจบประแจงและเอาตัวรอดในสังคมสมัยเมจิของญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีตัวละครสำคัญอีกคือ “โอะเซะอิ”(お勢)ซึ่งเป็นบุตรสาวของป้าของบุนโส โอะเซะอิเป็นหญิงสาวที่ทันสมัย ประพฤติตัวตามกระแสสังคมไม่มีจุดยืนเป็นของตนเอง “โอะเซะอิ” เป็นตัวละครสำคัญที่แสดงให้เห็นภาพของคนในยุคเปลี่ยนแปลงที่ได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตก โดยขาดการคิดพิจารณาว่าสิ่งที่รับเข้ามานั้นเหมาะสมกับวัฒนธรรมเดิมของตนหรือไม่ ฟุตะะบะเตะอิแสดงให้ผู้อ่านเห็นถึงความขัดแย้งและการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกผ่านตัวละครตัวนี้ ตัวละครตัวสุดท้ายคือ “โอะมะสะ”(お政)มารดาของโอะเซะอิ และเป็น “ป้า” ของบุนโส เป็นตัวละครที่สะท้อนให้เห็นถึงผู้หญิงในสังคมเมืองที่ให้ความสำคัญกับอำนาจและเงินตรา ด้วยเหตุนี้นางจึงไม่ค่อยชอบตัวละครเอก “บุนโส” เท่าใดนักหลังจากที่นางตระหนักว่าตัวละครเอกคงไม่มีโอกาสเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานดังที่คิดไว้ในตอนแรก
แม้นวนิยายเรื่อง เมฆลอย จะประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับจากผู้อ่านในยุคนั้นเป็นอย่างดี แต่ฟุตะบะเตะอิก็ไม่ได้เขียนนวนิยายเรื่องนี้จนจบ กล่าวกันว่าเนื่องจากเขารู้สึกว่าอาชีพนักเขียนเป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอนและไม่สามารถเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอดในสังคมยุคนั้นได้ ทำให้เขาตัดสินใจหยุดเขียนกลางคัน เพราะในความเป็นจริงแล้วชีวิตคนไม่ได้สวยงามเช่นนั้น ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดสัจนิยมในวรรณกรรมของฟุตะบะเตะอิได้เป็นอย่างดี
เดือนเต็ม กฤษดาธานนท์