อิฮะระ ซะอิกะกุ(井原西鶴, ค.ศ. 1642-1693)

อิฮะระ ซะอิกะกุ เป็นนักเขียนนิยายเริงรมย์ นักแต่งบทละครหุ่นกระบอกโจรุริ(人形浄瑠璃)และกวีไฮไก(俳諧)ในสมัยเอะโดะ นามแฝงที่ใช้ในการแต่งบทกวีไฮไกคือ คะกุเอะอิ(鶴永)และ นิมันโอ(二万翁)

 

อิฮะระ ซะอิกะกุ มีชื่อเดิมว่า ฮิระยะมะ โทโงะ(平山藤五)ถือกำเนิดเมื่อปี ค.ศ. 1642 เป็นบุตรชายในตระกูลพ่อค้าผู้มั่งคั่งแห่งนครโอซากา ไม่ปรากฏรายละเอียดแน่ชัดเกี่ยวกับชีวิตของเขา กล่าวกันว่าเขาเริ่มแต่งกลอนไฮไกเมื่อเขามีอายุได้ 15 ปี ต่อมาเขาได้ยกกิจการร้านค้าของเขาให้ผู้อื่นดูแล แล้วออกบวชและเดินทางไปทั่วประเทศญี่ปุ่น เขามีชีวิตในช่วงบั้นปลายที่ยากลำบาก และเสียชีวิตเมื่ออายุ 52 ปี

 

ซะอิกะกุร่ำเรียนไฮไกกับอาจารย์ไฮไกชื่อ นิฌิยะมะ โซอิน(西山宗因)เจ้าสำนักไฮไกสายดันริน(談林)ซึ่งมีรูปแบบการประพันธ์ที่เน้นอิสระทางความคิดของผู้แต่ง แสดงถึงปฏิภาณไหวพริบของผู้แต่ง โดยไม่มีกฎเกณฑ์การประพันธ์ที่เข้มงวดเหมือนไฮไกสายเทะอิมง(貞門)ไฮไกที่เขาแต่งได้รับการยอมรับว่ามีสไตล์ที่อิสระไร้ข้อจำกัด เขาจึงได้รับการเรียกขานว่า โอะรันดะซะอิกะกุ(阿蘭陀西鶴)ซึ่งมีความหมายโดยนัยว่า ซะอิกะกุหัวนอก มีรสนิยมแตกต่างจากขนบประเพณีนิยมของญี่ปุ่น

 

ซะอิกะกุมีความเชี่ยวชาญและว่องไวในการแต่งกลอนไฮไกมาก โดยเฉพาะการแต่งไฮไก ยะกะสุ ไฮไก(矢数俳諧)ที่แข่งความรวดเร็วในการแต่งไฮไกโดยการนับจำนวนบทที่แต่งได้ให้มากที่สุดในเวลาจำกัด มีบันทึกว่าเขาสามารถแต่งไฮไกโดยลำพังคนเดียวได้จำนวนสูงสุดถึง 23,500 บท ในเวลา 1 วัน 1 คืน

 

นอกจากการเขียนบทกวีไฮไกแล้ว ซะอิกะกุยังมีผลงานเขียนประเภทร้อยแก้วอีกด้วย ผลงานเขียนประเภทร้อยแก้วเรื่องแรกที่เขาแต่งชื่อ โคโฌะกุ อิชิดะอิ โอะโตะโกะ(好色一代男)ในปี ค.ศ. 1682 เป็นงานเขียนประเภทนิยายแนวใหม่ ที่เรียกว่า อุกิโยะโสฌิ(浮世草子)ซึ่งถ่ายทอดวิถีชีวิตของชาวเมืองที่ใช้ชีวิตอย่างสุขสำราญในโลกเริงรมย์

 

นิยายของเขาแบ่งตามเนื้อหาได้ 3 ประเภท คือ โชนินโมะโนะ(町人物)เป็นนิยายสะท้อนชีวิตชาวเมือง  โคโฌะกุโมะโนะ(好色物)เป็นนิยายรักเริงรมย์  บุเกะโมะโนะ(武家物)เป็นนิยายแนวเสียดสีวิถีชีวิตซามูไรจากมุมมองของชนชั้นพ่อค้า

 

ผลงานที่สำคัญของซะอิกะกุ ได้แก่ โคโฌะกุ อิชิดะอิ โอะโตะโกะ, โคโฌะกุนิดะอิโอะโตะโกะ(好色二代男), โคโฌะกุโกะนิง อนนะ(好色五人女), โคโฌะกุอิชิดะอิ อนนะ(好色一代女), ซะอิกะกุโอะกิมิยะเงะ  (西鶴置土産), บุโดเด็นระอิกิ(武道伝来記), บุเกะกิริโมะโนะงะตะริ(武家義理物語), นิปปงเอะอิตะอิกุระ(日本永代蔵), เซะเก็นมุเนะซังโย(世間胸算用), ซะอิกะกุ โฌะโกะกุบะนะฌิ(西鶴諸国ばなし)

 

ส่วนในเรื่องรูปแบบสไตล์การเขียนของซะอิกะกุนั้น กล่าวกันว่า ถึงแม้จะใช้ภาษาที่สั้น กระชับ แต่ก็เข้าใจยาก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะอิทธิพลจากไฮไก ในยุคเก็นโระกุ(元禄)ซึ่งอยู่ในช่วงกลางของสมัยเอะโดะ(ช่วงค.ศ. 1688-1704)  ซะอิกะกุเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ชื่นชอบของบรรดานักอ่านในสมัยสมัยเอะโดะ ผลงานของซะอิกะกุได้รับการประเมินว่ามีคุณค่าสูง ซะอิกะกุได้รับการยกย่องในฐานะ ปราชญ์แห่งยุคเก็นโระกุ

 

กัญญนันทน์ เตียวพาณิชย์

 

เอกสารอ้างอิง
谷脇理史(1993)「井原西鶴」『近世文学研究事典』桜楓社
輝峻康隆, 浅野晃, 富士昭雄, 江本裕, 谷脇理史(1995)『西鶴への招待 岩波セミナーブックス49』岩波書店
輝峻康隆, 東明雅(1977)「井原西鶴集一」『日本古典文学全集38』小学館
 

Read more