นะท์ซุเมะ โซเซะกิ(夏目漱石, ค.ศ. 1867-1916)

นะท์ซุเมะ โซเซะกิ เป็นนักเขียนคนสำคัญในโลกวรรณกรรมสมัยใหม่ของญี่ปุ่น เขาเกิดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1867 ที่กรุงโตเกียว ก่อนการปฏิรูปเมจิเพียง 1 ปี ชื่อจริงคือนะท์ซุเมะ คินโนะซุเกะ(夏目金之助)บิดามารดาที่แท้จริงได้ยกโซเซะกิให้ไปเป็นบุตรบุญธรรมของตระกูลฌิโอะบะระทำให้ต้องเปลี่ยนนามสกุลตามพ่อแม่บุญธรรม ภายหลังสามีภรรยาตระกูลฌิโอะบะระได้หย่าขาดจากกันเมื่อโซเซะกิอายุได้ 7 ปี เขาจึงถูกส่งกลับไปอยู่กับพ่อแม่อีกครั้ง ชีวิตในวัยเด็กของเขาจึงว้าเหว่และอ้างว้างโดดเดี่ยว

 

โซเซะกิได้รับการศึกษาทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาแบบแผนใหม่ที่นำมาใช้ใน ค.ศ. 1872 ต่างจากสมัยเก่าที่เป็นการศึกษาตามแบบจีนดั้งเดิม ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่โซเซะกิคุ้นเคยในวัยเด็ก โซเซะกิเคยบันทึกไว้ว่าตน “สามารถท่องจำบทกวีสมัยถังและสมัยซ่งได้หลายพันบรรทัด”

 

ใน ค.ศ. 1890 โซเซะกิเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโตเกียว แผนกวรรณคดีอังกฤษ หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียวแล้ว โซเซะกิได้เริ่มทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษโดยไปประจำอยู่ที่โรงเรียนมัธยมมะท์ซุยะมะ ในจังหวัดเอะฮิเมะ และต่อมาได้ย้ายมาเป็นครูที่โรงเรียนมัธยมในจังหวัดคุมะโมะโตะ โซเซะกิได้ใช้ประสบการณ์ชีวิตในช่วงนี้มาใช้เป็นวัตถุดิบในการรังสรรค์นวนิยายเรื่อง บตชัง(坊っちゃん)โซเซะกิได้สมรสกับบุตรสาวคนโตของเลขานุการเอกแห่งสภาขุนนางแต่ชีวิตแต่งงานไม่ราบรื่นนัก ทั้งสองมีบุตรธิดารวมกันทั้งหมดเจ็ดคน

 

หลังจากนั้นใน ค.ศ. 1900 เขาก็ได้รับทุนจากรัฐบาลไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยลอนดอน(London  University)ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 2 ปี โซเซะกิได้สัมผัสชีวิตของคนในสังคมชั้นสูง รวมทั้งการดูถูกคนต่างสีผิวของชาวอังกฤษเป็นเหตุให้เขามีความคิดในแง่ลบเกี่ยวกับชีวิตสังคมแบบอังกฤษ รู้สึกไม่ชอบทั้งคนอังกฤษและประเทศอังกฤษ นอกจากนี้โซเซะกิยังเป็นคนที่ค่อนข้างเก็บตัวและไม่ชอบคบหาสมาคมกับผู้คนทั่วไป  การปฏิสัมพันธ์เพียงอย่างเดียวที่มีกับคนอังกฤษคือการเรียนภาษาอังกฤษกับ ดับเบิลยู.เจ.เครก(W. J. Craig)อาจารย์ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีของเชคเสปียร์ โซเซะกิเคยกล่าวไว้ว่าช่วงเวลาสองปีในการใช้ชีวิตในกรุงลอนดอนของเขานั้นเป็นช่วงเวลาที่ไม่น่ารื่นรมย์ที่สุดในชีวิต

 

ในปี ค.ศ.1903 โซเซะกิเดินทางกลับโตเกียว ทำงานใช้ทุนรัฐบาลด้วยการเป็นอาจารย์สอนวรรณคดีอังกฤษในมหาวิทยาลัยโตเกียวเป็นเวลาสี่ปี ระหว่างนั้นก็รังสรรค์งานเขียนไปด้วย เขาเริ่มเขียนนวนิยายขึ้นหลายเรื่อง เรื่องที่ทำให้เขามีชื่อเสียงมากจนเป็นที่รู้จัก ได้แก่ วะงะ ฮะอิ วะ เนะโกะ เดะอะรุ(吾輩は猫である)หรือ ฉันคือแมว บตชัง(坊っちゃん)หรือ คุณหนู โคะโกะโระ(こゝろ)ทำให้โซเซะกิได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบรรณาธิการของนิตยสาร โฮะโตะโตะงิซุ(ホトトギス)ซึ่งเป็นนิตยสารชื่อดังในแวดวงวรรณกรรม

 

ในปี ค.ศ. 1907 โซเซะกิเป็นบรรณาธิการวรรณกรรมให้กับหนังสือพิมพ์อะซะฮิ ชิมบุน(朝日新聞)และได้นำผลงานของตนลงตีพิมพ์ด้วย ประวัติการทำงานด้านวรรณกรรมของโซเซะกิยาวนานเพียง 11 ปีเท่านั้นเริ่มตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1905-1916 แต่ผลงานรวมทั้งบทวิจารณ์ทุกชิ้นของเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานดีเด่น ตำราภาษาญี่ปุ่นเกือบทุกระดับมีบทคัดเลือกจากผลงานของเขา อีกทั้งผลงานของเขายังถือเป็นผลงานของนักเขียนที่ได้รับการวิจารณ์และได้รับการแปลเป็นภาษาอื่น ๆ มากที่สุดคนหนึ่ง

 

จุดเด่นที่สุดของโซเซะกิก็คือ ความเชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมและมีความรู้ทางด้านทฤษฎีวรรณกรรมตะวันตก  แต่ในขณะเดียวกันผลงานของเขาก็ไม่ได้ถูกวัฒนธรรมตะวันตกครอบงำและยังคงรักษาความเป็นญี่ปุ่นเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ในประเด็นนี้มีผู้วิจารณ์ว่ามีสาเหตุมาจากการที่เขาศึกษาวรรณคดีตะวันตกอย่างรอบคอบระมัดระวังและมีพื้นฐานด้านขนบประเพณีของจีนที่ลึกซึ้งมาก่อน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญต่อสังคมญี่ปุ่น ลักษณะของโซเซะกิในข้อนี้สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจน เช่นในวรรณกรรมเรื่อง โคะโกะโระ ที่โซเซะกิรังสรรค์ขึ้นใน ค.ศ. 1914

 

โซเซะกิเสียชีวิตลงใน ค.ศ. 1916 ด้วยโรคกระเพาะอาหารอักเสบ รวมอายุได้ 49 ปี

 

เดือนเต็ม กฤษดาธานนท์

Read more