โคะจิกิ 古事記

โคะจิกิ เป็นหนังสือบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น รวบรวมขึ้นโดยพระราชดำริของจักรพรรดิเท็มมุ(天武天皇)ที่ทรงเห็นว่าสมควรรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับราชวงศ์รวมทั้งเทพนิยายและตำนานต่าง ๆ เอาไว้ เพื่อให้ชนในชาติมีประวัติศาสตร์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงโปรดเกล้าฯ ให้นักเล่านิทานชื่อว่า ฮิเอะดะ โนะ อะเระ(稗田阿礼)ท่องจำเรื่องราวต่าง ๆ เอาไว้ ต่อมาในสมัยจักรพรรดินีเก็นเมะอิ(元明天皇)ได้โปรดเกล้าให้โอะโนะ ยะซุมะโระ(太安万侶)บันทึกเรื่องราวเหล่านั้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและนำมาปรับแก้ไขจนเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ.712

 

โคะจิกิ แบ่งออกเป็นสามภาค ภาคแรกเป็นเรื่องราวตั้งแต่กำเนิดของเทพเจ้าและโลกมนุษย์จนถึงสมัยจักรพรรดิจิมมุ(神武天皇)ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์แรกของญี่ปุ่น (585 ปีก่อนคริสตกาล) ภาคที่สองเป็นเรื่องราวตั้งแต่สมัยจักรพรรดิจิมมุจนถึงสมัยจักรพรรดิโอจิน(応神天皇)ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์ที่ 15 และภาคที่สามเป็นเรื่องราวตั้งแต่สมัยจักรพรรดินินโตะกุ(仁徳天皇)จนถึงสมัยจักรพรรดินีซุอิโกะ(推古天皇)ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์ที่ 33

 

โคะจิกิ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ฟุรุโกะโตะบุมิ(ふることぶみ)หมายถึง บันทึกเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณ คำว่า “โคะจิกิ” นั้น เป็นการอ่านโดยใช้เสียงจีนที่เรียกว่า “อนโยะมิ”(音読み)ส่วน “ฟุรุโกะโตะบุมิ” เป็นการอ่านแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า “คุนโยะมิ”(訓読み) โคะจิกิเขียนขึ้นโดยใช้ตัวอักษรจีนเนื่องจากสมัยนั้นญี่ปุ่นยังไม่มีตัวอักษรเป็นของตัวเอง จึงต้องใช้อักษรจีนมาแสดงเสียงแบบจีนและแบบญี่ปุ่นในรูปประโยคที่ใช้ไวยากรณ์ญี่ปุ่น เนื้อเรื่องในโคะจิกิ มีลักษณะคล้ายนิทานที่เป็นตอน ๆ การเรียงลำดับเนื้อหาในเรื่องบางครั้งจะไม่เรียงตามลำดับเวลา ลักษณะการประพันธ์จัดอยู่ในประเภทวรรณกรรมร้อยแก้วโดยมีบทเพลงพื้นบ้านและบทกลอนแทรกอยู่บ้างเป็นบางตอน

 

การบันทึกเรื่องราวการก่อเกิดประเทศญี่ปุ่นลงในโคะจิกิ นั้น แสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะทำให้คนญี่ปุ่นมีความคิดความเชื่อที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเป็นเอกภาพและความสามัคคีของคนในชาติ เพราะการที่จักรพรรดิสืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้านั้นทำให้ประชาชนเกิดความศรัทธาเลื่อมใสและเต็มใจยอมอยู่ใต้การปกครอง โคะจิกิ นอกจากจะเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าทางวรรณศิลป์แล้วยังทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ สะท้อนความคิดความเชื่อ ค่านิยม ประเพณีและพิธีกรรมของผู้คนในยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี และยังมีคุณค่ายิ่งในฐานะที่เป็นวรรณกรรมลายลักษณ์อักษรเรื่องแรกของญี่ปุ่นอีกด้วย

 

อรรถยา สุวรรณระดา

Read more