ภาษาญี่ปุ่นมีลักษณะพิเศษ 3 อย่าง คือ ตัวอักษร คำศัพท์ และการเรียงลำดับคำในประโยค
1. ตัวอักษร ภาษาญี่ปุ่นมีเอกลักษณ์ที่ไม่มีในภาษาอื่นคือ มีการใช้ตัวอักษรมากกว่า 1 ชนิด ได้แก่
1.1 อักษรคะนะ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ อักษรฮิระกะนะและอักษรคะตะกะนะ(ชนิดละ 46 ตัวอักษร)
1.2 อักษรคันจิ(อักษรจีน)
1.3 อักษรโรมัน
อักษรคะนะเป็นอักษรแสดงเสียง อักษร 1 ตัวอักษรแสดงเสียงอ่าน 1 เสียง ส่วนอักษรคันจิแสดงทั้งเสียงและความหมาย อักษรคันจิ 1 ตัวอักษรอาจมีเสียงอ่านเสียงเดียวหรือหลายเสียง แสดงความหมายเดียวหรือหลายความหมาย
อักษรคะนะ 1 ตัว ประกอบด้วยเสียงสระ หรือเสียงพยัญชนะและเสียงสระ นับเป็น 1 พยางค์ อักษรคะนะทุกตัวจะต้องมีเสียงสระกำกับ เสียงพยัญชนะ 1 เสียงไม่สามารถออกเสียงได้ ยกเว้นเสียง N ซึ่งเป็นเสียงลงท้ายคำเทียบเท่ากับเสียงตัวสะกด “น, ม, ง” ในภาษาไทย
ปรกติการเขียนประโยคภาษาญี่ปุ่น 1 ประโยค จะใช้ตัวอักษรหลายชนิดแล้วแต่ประเภทของคำ เช่น
(1)
หรืออาจเขียนเป็นอักษรฮิระกะนะล้วน อักษรคะตะกะนะล้วน หรือใช้อักษรโรมันล้วนก็ได้ แต่ไม่เป็นที่นิยม
2. คำศัพท์ ในภาษาญี่ปุ่นมีทั้งคำศัพท์ที่ใช้ในภาษาญี่ปุ่นมาแต่เดิม คำศัพท์ที่รับมาจากภาษาจีน และคำศัพท์ที่รับมาจากภาษาต่างประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากภาษาจีน คำบางคำอาจมีใช้ทั้งคำที่เป็นคำภาษาญี่ปุ่นแท้ และคำที่รับมาจากภาษาอื่น เช่น คำว่า “รถยนต์” ใช้ทั้ง “車”(คำภาษาญี่ปุ่นแท้)“自動車”(คำที่รับมาจากภาษาจีน “自動車”)และ “カー”(รับมาจากภาษาอังกฤษ “car”)แต่ใช้ในบริบทที่แตกต่างกัน
3. การเรียงลำดับคำในประโยค ภาษาญี่ปุ่นจะมีการเรียงลำดับคำดังนี้คือ ภาคแสดงหลักจะอยู่ท้ายประโยค ส่วนประกอบอื่น ๆ ของประโยค เช่น ประธาน กรรมตรง และกรรมรอง จะอยู่หน้าภาคแสดงหลัก โดยมีหน่วยคำที่เรียกว่าคำช่วย(particle)อยู่ท้ายคำ ๆ นั้น เพื่อบอกหน้าที่ของคำ ๆ นั้นว่าทำหน้าที่อะไรในประโยค ทั้งนี้สามารถสลับลำดับของคำเหล่านี้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เช่น
(2)
(3)
นอกจากนี้ คำขยายจะต้องอยู่หน้าคำที่ถูกขยาย เช่น “暑い日”(ร้อน-วัน)แปลว่า “วันที่อากาศร้อน” คำคุณศัพท์ 暑い(ร้อน)ทำหน้าที่ขยายคำนาม 日(วัน)ดังนั้น 暑い จึงอยู่หน้า 日หรือ “早く来る”(เร็ว ๆ -มา)แปลว่า “มาเร็ว ๆ” คำวิเศษณ์ 早く(เร็ว ๆ)ทำหน้าที่ขยายคำกริยา 来る(มา)早く จึงอยู่หน้า 来る
บุษบา บรรจงมณี
รายการอ้างอิง :
金田一春彦(1981)『新NHK市民大学叢書10日本語の特質』日本放送出版協会