โอะเตะดะมะ お手玉

โอะเตะดะมะ(お手玉)คือ ของเล่นเด็กชนิดหนึ่งที่ทำโดยนำผ้ามาเย็บเป็นลูกกลม ๆ แล้วใส่เมล็ดถั่วหรือข้าวไว้ข้างใน  ผู้เล่นจะใช้มือโยนและรับไปตามจังหวะเพลง เป็นที่นิยมในหมู่เด็กผู้หญิงมาตั้งแต่โบราณ  กล่าวกันว่ามีผู้นำโอะเตะดะมะเข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่นจากประเทศจีนในสมัยนารา แต่เดิมการละเล่นชนิดนี้ไม่ใช้ถุงผ้า แต่เล่นโดยโยนหินก้อนเล็ก ๆ หรือลูกแก้ว วิธีเล่นโอะเตะดะมะมีสองแบบ แบบแรกเล่นโดยใช้โอะเตะดะมะมากกว่า 2 ลูก ผู้เล่นจะโยนโอะเตะดะมะลูกหนึ่งขึ้นไป ขณะรอรับลูกที่ตกลงมาก็จะโยนโอะเตะดะมะอีกลูกขึ้นไปแทน ทำเช่นนี้ต่อกันไปเรื่อย ๆ วิธีรับอาจใช้มือเดียว สองมือ ยืนรับหรือผู้เล่นอีกคนคอยแย่งรับ ฯลฯ แล้วแต่จะตกลงกัน ส่วนอีกแบบหนึ่งเล่นโดยใช้โอะเตะดะมะประมาณ 5-8 ลูก โอะเตะดะมะที่มีขนาดใหญ่กว่าลูกอื่น ๆ จะถูกกำหนดให้เป็น โอะยะดะมะ(親玉)ระหว่างโยนลูกใหญ่นี้ขึ้นไปผู้เล่นต้องรีบเก็บลูกอื่น ๆ ให้ได้ก่อนที่ลูกใหญ่จะตกลงมา การเก็บอาจเริ่มจากเก็บทีละลูก ก่อนค่อย ๆ เพิ่มปริมาณลูกที่เก็บในแต่ละครั้งขึ้นไปตามลำดับ(คล้ายหมากเก็บของไทย)ถ้าผู้เล่นคนไหนทำพลาด ต้องเปลี่ยนให้คนอื่นเล่นต่อ เพลงที่ใช้ประกอบการละเล่นนี้มีมากมายทั้งจังหวะเร็วและช้า อีกทั้งเนื้อร้องและทำนองยังแตกต่างกันไปตามพื้นที่ด้วย

 

นอกจากนี้ โอเตะดะมะยังเป็นที่มาของสำนวน “โอะเตะดะมะ นิ ซุรุ”(お手玉にする)การควบคุมคนอย่างชาญฉลาดหรือทำให้คนอยู่ใต้อาณัติ นอกจากนี้ในการเล่นกีฬาที่ใช้ลูกบอล เวลาผู้เล่นคว้าลูกบอลพลาดหรือทำหล่นก็จะเรียกว่า “โอะเตะดะมะ” เช่นกัน

 

ภัทร์อร พิพัฒนกุล

 

รายการอ้างอิง

笹間良彦(2005)『日本こどものあそび大図鑑』遊子館

Read more